‘ทีไอเจ’ จับมือ ‘ยูเอ็นโอดีซี’ ป้องไทยรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ ปั้น ‘ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง’ หวังขับเคลื่อนโครงการยั่งยืน

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) จับมือสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ลงนามข้อตกลงร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพประเทศไทยเพื่อรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ เปิดเวทีรวบรวมปัญหาพร้อมระดมสมองชี้ทางออกภาครัฐ ป้องกันและแก้ไขปญหาแบบบูรณาการ หวังแนวทางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการทีไอเจ กล่าวในงานลงนามความร่วมมือว่าด้วยการเสริมสร้างศักยภาพประเทศไทยในการรับมือกับอาชญากรรมไซเบอร์ ณ ห้องประชุม UNODC อาคารสหประชาชาติ ว่า จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของผู้คนแล้ว ขณะเดียวกันการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกคุกคามในรูปแบบของอาชญากรรมไซเบอร์ ดังนั้น เมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ป้องกันอาชญากรรมและส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญาได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์

“ทีไอเจจึงได้ร่วมมือกับยูเอ็นโอดีซีเพื่อผลักดันและส่งเสริมประสิทธิภาพในการรับมือของภาครัฐประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ รูปแบบจะประกอบไปด้วยการจัดการประชุมและหารือกับผู้มีส่วนได้เสียในภาคส่วนต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์อาชญากรรมไซเบอร์ในประเทศไทย สนับสนุนให้มีการประชุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐเพื่อให้รับรู้ถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะสร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติการเพื่อสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาชญากรรมไซเบอร์สู่การเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการต่อไป”

Advertisement

นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนของยูเอ็นโอดีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวถึงกลุ่มอาชญากรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือก่ออาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การซื้อสินค้าหรืออาชญากรรมทางการเงิน พร้อมให้ความเห็นถึงความสำคัญของการทูตที่ควรดำเนินการพร้อมกับคำแนะนำด้านนโยบาย การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการอภิปรายเกี่ยวกับภัยคุกคามและความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต สำหรับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับทีไอเจนั้นจะช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่และสถาบันต่างๆ ในประเทศไทย เตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายที่จะเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ผู้อำนวยการทีไอเจกล่าวในช่วงท้ายว่า จากความร่วมมือถือเป็นการเริ่มต้นของโครงการที่มุ่งเน้นในดำเนินการจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศไทยในระยะยาว ตั้งแต่ส่งเสริมกระบวนการหารือและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีศักยภาพในการรับมือ มีความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ พร้อมกับยกระดับกระบวนการดำเนินงาน ที่สำคัญคือมีการสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและสร้าง ‘ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง’ (agents of change) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานการต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image