ประกันสุขภาพที่ “ผู้หญิง” ควรมี

ผู้หญิงส่วนใหญ่ให้ความใส่ใจกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวทั้งบทบาทของการเป็นแม่ เป็นน้อง เป็นพี่ จนบางครั้งก็ลืมใส่ใจหรือมองข้ามการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองไป อีกทั้งไลฟ์สไตล์ของคนไทยในปัจจุบันทั้งนิสัยการกิน ภาระหน้าที่การงาน ปัญหาปากท้อง รวมถึงความเสี่ยงกับอุบัติเหตุต่างๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงกับผู้หญิงทั้งกับร่างกายและจิตใจ ยิ่งไปกว่านั้นสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้หญิงหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะคนเป็นแม่ จึงอยู่ในช่วงวัยที่ต้องเผชิญกับปัญหาเจ็บป่วยต่างๆ และต้องการการดูแลเป็นพิเศษ โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2559 ค่ารักษาพยาบาลของคนไทยโดยรวม มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 344,000 ล้านบาท

K-Expert บริการที่ปรึกษาด้านการเงิน ธนาคารกสิกรไทย ให้คำแนะนำว่า ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้น ปัญหาด้านสุขภาพที่ซับซ้อน สภาพสังคมที่แปรเปลี่ยน และอัตราค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้หญิงจึงควรเตรียมตัวรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น การซื้อประกันสุขภาพ เป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยโดยการซื้อประกันสุขภาพ เพื่อไม่ให้ต้องเผชิญกับปัญหาการแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลในการรักษาพยาบาล

·        ประกันคุ้มครองการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของผู้หญิงได้ ประกันคุ้มครองการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรจึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม โดยทั่วไปความคุ้มครองจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

–        คุ้มครองขณะตั้งครรภ์ เช่น ทารกในครรภ์เสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนด หรือการผ่าตัดเนื่องจากภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก

Advertisement

–        คุ้มครองหลังการคลอดบุตร เช่น คุณแม่หรือทารกเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนด ทารกมีโรคประจำตัวแต่กำเนิด เป็นต้น

·        ประกันโรคร้าย จากสถิติการเสียชีวิตของคนไทยพบว่า ทุกๆ 1 ชั่วโมงจะมีคนเสียชีวิตจาก 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด และโรคความดันโลหิตสูง ยิ่งใครที่มีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีประวัติการเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง ก็ยิ่งควรทำ เพราะค่ารักษาครั้งหนึ่งอาจสูงถึงหลักแสนหรือหลักล้าน ถ้ามีเงินเก็บไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อการเงินได้ ซึ่งประกันโรคร้ายแรงก็มีหลายรูปแบบด้วยกัน บางแบบคุ้มครองเฉพาะโรคมะเร็ง บางแบบคุ้มครอง 4-5 โรคที่คนไทยเป็นกันมาก หรือบางแบบคุ้มครองถึง 40 หรือ 50 โรคร้ายแรง ซึ่งแบบที่ให้ความคุ้มครองหลายโรคจะมีเบี้ยประกันที่สูงกว่าแบบที่คุ้มครองเพียงไม่กี่โรคเท่านั้น

สิ่งสำคัญ คือ ควรพิจารณารายละเอียดความคุ้มครองจากกรมธรรม์อย่างรอบคอบ เช่น ให้ความคุ้มครองโรคมะเร็งเฉพาะระยะลุกลามหรือคุ้มครองมะเร็งทุกระยะ และในส่วนของประกันสุขภาพโรคร้ายแรง ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ความคุ้มครอง 30 – 40 โรคร้ายแรง ในบางกรมธรรม์เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งแล้ว เมื่อบริษัทประกันจ่ายเงินชดเชยให้จะถือว่าความคุ้มครองสิ้นสุดลงทันที แต่บางกรมธรรม์ยังคงให้ความคุ้มครองสำหรับโรคร้ายแรงอื่นๆ อยู่

Advertisement

นอกจากนี้ K-Expert มีคำแนะนำในการพิจารณาทำประกันสุขภาพ

·        ซื้อแบบแยกค่าใช้จ่าย หรือ ซื้อแบบเหมาจ่ายประกันสุขภาพสามารถแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ด้วยกัน คือ แบบแยกค่าใช้จ่าย และแบบเหมาจ่าย โดยถ้ามองว่าแต่ละครั้งที่เจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงมากนัก ให้เลือกทำประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย โดยดูว่าโรงพยาบาลที่คาดว่าจะเข้ารับบริการเมื่อเจ็บป่วยนั้น มีค่าห้องเท่าไร เพื่อเลือกซื้อวงเงินค่าห้องของแบบประกันให้สอดคล้องกัน ยิ่งค่าห้องสูง วงเงินค่ารักษา เช่น ค่าอาหาร ค่าหมอ ค่ายา ค่าผ่าตัด ค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ ก็ยิ่งสูงตาม แต่ถ้ามีค่าใช้จ่ายรายการใดที่เกินวงเงิน ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นเพิ่มเติมเอง โดยอัตราค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายจะขึ้นอยู่กับค่าห้อง

ในกรณีต้องการได้รับความคุ้มครองจากประกันให้ครอบคลุมค่ารักษามากที่สุด ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายจะเหมาะกว่า อย่างไรก็ตาม ประกันสุขภาพแบบนี้อาจมีค่าเบี้ยประกันที่สูง เนื่องจากไม่มีการจำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายในแต่ละรายการ และบางกรมธรรม์อาจกำหนดวงเงินสำหรับค่ารักษาบางรายการ เช่น ค่าห้อง โดยถ้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่มีค่าห้องสูงกว่าที่กำหนดในกรมธรรม์ จะต้องจ่ายเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เองด้วย หรือซื้อประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อให้มีความคุ้มครองเพิ่มขึ้นก็ได้

·        ซื้อเฉพาะคุ้มครองผู้ป่วยใน หรือ ซื้อเพิ่มเติมผู้ป่วยนอกประกันสุขภาพโดยทั่วไป จะคุ้มครองค่ารักษากรณีที่เป็นผู้ป่วยใน คือ สามารถเบิกเคลมค่ารักษาจากประกันได้เมื่อมีการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง หรือป่วยด้วยโรคที่จัดอยู่ใน Day Case คือ เป็นโรคที่เมื่อรับการรักษาแล้ว ไม่ต้องแอดมิด สามารถกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ และเพียงวันเดียวก็ทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ส่วนความคุ้มครองกรณีผู้ป่วยนอก แบบที่ไม่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล หรือการรักษาตามคลินิกทั่วไป มักต้องซื้อเพิ่มเติม แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อครั้งมักไม่สูงนัก แต่โดยส่วนใหญ่ คนเรามีโอกาสเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้บ่อยกว่าการเจ็บป่วยแบบที่ต้องนอนโรงพยาบาล ทำให้ถ้ารวมค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งเข้าด้วยกันแล้ว อาจเป็นจำนวนเงินที่สูงได้ ดังนั้น ถ้ามองว่าตัวเองมีโอกาสเจ็บป่วยบ่อย ควรซื้อความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกไว้ด้วย แม้ว่าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันสูงขึ้น แต่ช่วยเพิ่มความคุ้มครอง

การจัดการความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยโดยการซื้อประกันสุขภาพ เป็นแนวทางหนึ่งที่ไม่ปล่อยให้โรคร้ายทำร้ายสุขภาพการเงินและสุขภาพจิตของคนในครอบครัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image