อีอีซีส่งหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” ให้ 4 รพ. ยกระดับสาธารณสุข – ช่วยหมอลดเสี่ยง

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาล ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ย. สถิติผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั่วโลกกว่า 53 ล้านราย ประเทศไทยมี 3,861 ราย และพบว่าในพื้นที่ อีอีซี 3 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมกันประมาณ 300 ราย ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต้อง ให้การดูแลรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 อย่างระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ จึงทำให้เกิดปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับคุณหมอที่ดูแล

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) เล็งเห็นอุปสรรคข้อนี้ และต้องการยกระดับสาธารณสุขในพื้นที่ อีอีซี จึงมอบทุนสนับสนุนจำนวน 8 ล้านบาทให้กับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) เพื่อจัดสร้างชุดระบบหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และส่งมอบให้กับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ใน อีอีซี

โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการส่งมอบ และมีนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นตัวแทนมอบ

Advertisement

นายคณิศ แสงสุพรรณ กล่าวว่า การมอบหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” ในครั้งนี้ จะมอบให้กับโรงพยาบาลใน อีอีซี 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี โรงพยาบาลละ 1 ชุด ประกอบด้วยหุ่นยนต์ 3 รูปแบบ ได้แก่ หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์น้องโซ่ฟ้า (SOFA) สามารถควบคุมทางไกลจากห้องส่วนกลาง แสดงข้อมูลการรักษาที่เชื่อมโยงระบบของโรงพยาบาล และวิดีโอคอล สนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ พัฒนาให้สามารถรองรับเทคโนโลยี 5G สามารถวัดอุณหภูมิคนไข้ได้ และซูมความละเอียดได้ถึง 20 เท่า

สำหรับหุ่นยนต์ตัวที่สองทำหน้าที่ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ (CARVER) สามารถระบุจุดหมายของการส่งเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้และฆ่าเชื้อได้ด้วยแสงอุลตราไวโอเลต สุดท้ายคือหุ่นยนต์บริการเฉพาะจุด (Service Robot) สามารถเคลื่อนที่อัตโนมัติจากการควบคุมทางไกลจากห้องส่วนกลาง รวมทั้ง 4 โรงพยาบาล จำนวน 12 ตัว โดยขณะนี้ฟีโบ้ได้ติดตั้งชุดระบบหุ่นยนต์ให้โรงพยาบาลชลบุรีเรียบร้อยแล้ว และจะทยอยติดตั้งให้ครบทั้ง 4 โรงพยาบาลภายในกลางเดือนธันวาคมนี้

Advertisement

เลขาธิการ สกพอ. กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ อีอีซี เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรแฝงของแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานมาทำงานในพื้นที่อีอีซีนั้น สกพอ. จะต้องประสานความร่วมมือเพื่อร่วมวางแผนกับกระทรวงสาธารณสุข ขยายศักยภาพของโรงพยาบาลให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทุกประเภทรวมทั้งโรคที่รักษายากได้ โดยที่การรักษาไม่กระจุกตัว รวมทั้งต้องประสานกับภาคเอกชนเจ้าของกิจการเรื่องการสำรวจข้อมูลการขึ้นทะเบียนของแรงงานกับสถานพยาบาลไม่สัมพันธ์กันทำให้มีผลต่อจำนวนเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ดังนั้น จึงต้องมีการหารือกับผู้ประกอบการเรื่องการลงทุนขยายโรงพยาบาลในเขตนิคมอุตสาหกรรม ลดความหนาแน่นของโรงพยาบาลประจำท้องถิ่น

นอกจากนี้ อีอีซี ยังตั้งเป้าจะเป็นเมดิคัลเซ็นเตอร์ของภูมิภาค ดังนั้นจึงเกิดแนวทางการจัดตั้งศูนย์รักษาโรคทางจิตเวช และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เนื่องจากในพื้นที่ อีอีซี เป็นชุมชนเมืองที่มีความหนาแน่น ทำให้มีปัญหาความเครียด และสุขภาพจิต รวมทั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด ดังนั้นใน อีอีซี จึงต้องสามารถรองรับปัญหาด้านสุขภาพได้ทั้งหมด

ด้าน รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้เพื่อรับมือกับโควิด ทำให้ไทยมีเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์เป็นของตัวเอง สามารถต่อยอดส่งออกหุ่นยนต์ได้ในอนาคต ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาฟีโบ้ร่วมกับภาคเอกชนผลิตหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” ไปแล้วกว่า 300 ชุด เพื่อกระจายไปให้โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อลดการติดเชื้อโควิดของบุคลากรทางการแพทย์ และนอกจากนี้ อีอีซี ยังได้ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนด้านหุ่นยนต์ของไทยที่มีจำนวนกว่า 200 ราย รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก ฟีโบ้ เพื่อผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์

“เนื่องจาก ฟีโบ้ เป็นหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ในการวิจัยพัฒนาด้านหุ่นยนต์ไม่มีกำลังพอที่จะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยในขณะนี้มีความต้องการหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” เป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา, ประเทศฝรั่งเศส และประเทศสิงคโปร์ ติดต่อเข้ามาขอซื้อ แต่ในเบื้องต้นเราจะต้องผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศให้เพียงพอก่อน จากนั้นจะพัฒนาต่อยอดเพื่อการส่งออกต่อไป ซึ่งในอนาคตหุ่นยนต์แบบนี้จะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของโรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่ต่างจากเครื่องเอกซเรย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์และลดการติดเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยตรง” รศ.ดร.ชิต กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image