ททท.ยึดTourism Village Festดึง”ชุมชนท่องเที่ยว”เข้ามาตรฐานSHA ปูพรมชวนนักท่องเที่ยวแห่รีวิวบริการคัด10ธุรกิจรับBest of SHAปี’64

ททท.กระตุ้นเต็มเหนี่ยวดึงธุรกิจท่องเที่ยวร่วมรับมาตรฐานตราสัญลักษณ์ SHA ช่วง ธ.ค.63
“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ใช้เวทีงาน Village Tourism Festival ตอกย้ำแหล่งท่องเที่ยว “หมู่บ้าน-ชุมชน” เข้าร่วม SHA ย้ำหนักแน่นกับ “เจ้าของสถานที่-พนักงาน-นักท่องเที่ยว” ปฏิบัติเข้ม พร้อมเร่งปูพรมลุยชวนคนแห่รีวิวมาตรฐานบริการธุรกิจ 10 ประเภท ก่อนประกาศให้เป็น Best of SHA ในวันท่องเที่ยวโลก 27 ก.ย.64

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่าขณะนี้การเดินหน้ารณรงค์ให้ธุรกิจทั่วประเทศทั้ง 10 ประเภท เข้าร่วมมาตรฐาน Amazing Thailand Safty & Health Administration :SHA ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 เดือนในปี 2563 วางกลยุทธ์รณรงค์อย่างเข้มข้นมาก เพื่อให้ทุกธุรกิจและนักท่องเที่ยวสร้างความเคยชินกับ SHA ต้องอยู่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับการกำกับมาตฐานกับมาตรการด้านสาธารณสุข ททท.ยังคงให้ความเข้มข้นทั้งสองส่วนทั้งสุขอนามัยและความปลอดภัยที่จะร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

Advertisement

ดังนั้นทุกกิจกรรมจึงต้องเน้นความเข้มข้นโดยเฉพาะงานล่าสุด Village Tourism Festival มหกรรมการยกหมู่บ้านท่องเที่ยวดีเด่นและยอดเยี่ยมแห่งปี 2563 จากทั่วประเทศ นำสินค้าเข้ามาร่วมขายใจกลาง กรุงเทพฯ ณ อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ททท.จัดทีมลงเสริมความรู้เชิงข้อมูลรวมทั้งกระตุ้นผู้ที่เกี่ยวข้องทุกหมู่บ้านท่องเที่ยวสมัครเข้าร่วมรับมาตรฐานตราสัญลักษณ์ SHA ตอนนี้ก็มีจำนวนผ่านเกณฑ์หลักเกินกว่า 100 ชุมชน

ขณะเดียวกัน ททท.ก็เร่งกระตุ้นธุรกิจสาขาต่างๆ เข้าร่วมลงทะเบียนเพื่อตรวจเช็คอยู่ตลอดถึงการพัฒนาของทุกธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะต้องเข้มด้วยมาตรฐานสาธารณสุขจากตรา SHA ขานรับปี 2564 จะเริ่มทำโครงการ Next SHA ด้วยการเชิญชวนคนมารีวิวด้วยเรตติ้งหรือสะท้อนความคิดเห็นเพื่อมอบ BEST OF SHA จากการที่ผู้ใช้บริการตามสถานที่ กิจกรรม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยว โดยจะทำต่อเนื่องตลอดตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2564 เพื่อประกาศผลในวันท่องเที่ยวโลก 27 กันยายน 2564 เพราะ SHA เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ยิ่งในสถานการณ์ตอนนี้ที่ยังต้องอยู่กับการป้องกันสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อไป จนกว่าองค์การอนามัยโลกจะประกาศใช้วัคซีนอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะในปี 2564 ททท.มุ่งมั่นสร้าง BEST OF SHA ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการเข้ามามีส่วนร่วมรีวิวสถานประกอบการท่องเที่ยวทุกประเภท เพื่อร่วมกันดูแลมาตรฐาน SHA ให้เดินหน้าไปได้ตามเป้าหมาย ทำให้การท่องเที่ยววิถีใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทุกสถานการณ์

เนื่องจากตราสัญลักษณ์ SHA เป็นเครื่องหมายที่ ททท.และหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข ภาครัฐ เอกชน ช่วยกันสร้างช่องทางการรับรู้ เพื่อช่วยกันตอกย้ำให้ผู้ใช้บริการทั้งนักท่องเที่ยว ประชาชน และชาวต่างชาติที่พำนักในไทย (expat) รวมถึง ททท.สำนักงานต่างประเทศทั่วโลก 29 แห่ง ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้พันธมิตร สายการบิน บริษัทตัวแทนจัดนำเที่ยว นานาชาติ รับรู้ถึงมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยภายใต้ตราสัญลักษณ์ SHA ตอกย้ำและสร้างความเชื่อมั่น เมื่อถึงเวลาที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยจะได้ท่องเที่ยวอย่างสบายใจ

นางสาวฐาปนีย์ กล่าวย้ำว่า ธุรกิจประเภท “กิจการนันทนาการ และสถานที่ท่องเที่ยว” รวมทั้งหมู่บ้านชนบทหรือชุมชน ถือเป็นหนึ่งในประเภทแหล่งท่องเที่ยวด้วย จึงต้องเชิญชวนสมัครเข้าร่วมรับมาตรฐานตราสัญลักษณ์ SHA ตามเกณฑ์ที่กำหนด ดังนี้

“ผู้ประกอบการ” จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานครบ 14 ข้อ ได้แก่ 1.จัดให้ผู้รับบริการมีทางเข้า-ออกทางเดียว กรณีจำเป็นต้องมีหลายช่องทางต้องจัดจุดคัดกรองทุกเส้นทาง 2.จัดพื้นที่ลงทะเบียนให้ผู้รับบริการเช็คอิน-เช็คเอาท์ หรือจะกรอข้อมูลต่างๆ เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อ ในวันและช่วงเวลาที่เข้ารับบริการ 3.บันทึกประวัติพนักงานและประวัติการเดินทาง 4.อนุญาตให้เฉพาะผู้รับบริการซึ่งสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเท่านั้นสามารถเข้าใช้บริการได้ 5.จัดให้มีที่ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา 6.จำกัดจำนวนผู้รับบริการ โดยจัดพื้นที่รอคิว ประการสำคัญต้องมีระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร 7.ควรมีเส้นหรือแนวบอกเส้นทางอย่างชัดเจนในการให้บริการ

8.เพิ่มความถี่การทำความสะอาด โดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วม อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง เช่น ที่จับประตู ห้องน้ำ และอื่นๆ 9.มีมาตรการควบคุมสุขอนามัยและป้องกันการแพร่เชื้อในพื้นที่โซนให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม 10.จัดให้มีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ ติดตั้งและดูแลระบบการหมุนเวียนภายในร้านเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค 11.นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้ข้อมูลตามแหล่งท่องเที่ยว ทดแทนสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อลดการสัมผัสให้ได้มากที่สุด 12.จัดทำระบบกำจัดขยะ ของเสีย กระดาษชำระ และหน้ากากอนามัยที่ใช้อย่างเหมาะสม 13.มีบริการชำระเงินอย่างปลอดภัย เพื่อลดปริมาณการพูดคุย สัมผัส ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ และ 14.สื่อสารให้ความรู้ข้อแนะนำผ่านช่องทางต่างๆ เน้นลดความเสี่ยงควบคู่การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น จัดทำป้ายแสดงคำเตือนและแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่มาใช้บริการ

“ผู้ให้บริการ” หรือพนักงาน จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ได้แก่ 1.ต้องดูแลรักษาความสะอาดร่างกาย สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างมิดชิด หรือจะใช้เฟซชิลตลอดการปฏิบัติการ 2.ล้างมือด้วน้ำและสบู่ หรือเจแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ 3.หากมีการไอ จาม น้ำมูกไหล เหนื่อยหอบ มีไข้ ต้องหยุดปฏิบัติงานแล้วไปพบแพทย์ทันที 4.เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร 5.พนักงานที่ดูแลจัดการขยะ จะต้องล้างมือหลังเสร็จงาน ส่วนกระดาษชำระ หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ต้องจำกัดอย่างเหมาะสมก่อนทิ้งลงถังขยะ

“ผู้ใช้บริการ” หรือลูกค้าเองก็ต้องร่วมมือกับทั้งผู้ประกอบการและผู้ให้บริการ ดังนี้ 1.ร่วมมือตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 2.เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร 3.ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ 4.นำอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวมาเอง เช่น ผ้าขนหนู ชุดว่ายน้ำ และอื่นๆ 5.ไม่ควรชำระเงินด้วยเงินสด เพื่อลดการสัมผัส อาจจะใช้วิธีโอนจ่ายเงินจากแอพลิเคชั่น หรือพร้อมเพย์

ทั้งนี้ ททท.ด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้มาตรฐานตราสัญลักษณ์ SHA เป็นเครื่องหมายสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวคนไทยและทั่วโลก ตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทยอย่างสบายใจด้านความปลอดภัยด้านสุขอนามัยทั้งในสถานที่ท่องเที่ยว พนักงานให้บริการ รวมทั้งนักท่องเที่ยวทุกคน

เรื่องและภาพโดย…เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourzawww.facebook.com/penroongyaisamsaen

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image