มจพ. จัดสัมมนา “เปิดมุมมองธุรกิจอุตสาหกรรมไทย สร้างความเข้มแข็งหลังวิกฤตโควิด-19” หวังลดช่องว่างระบบการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม

คณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “เปิดมุมมองธุรกิจอุตสาหกรรมไทยเพื่อสร้างความเข้มแข็งหลังวิกฤติ COVID-19” วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00-12.00 น. ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ. โดยมี “ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน” อธิการบดี มจพ. กล่าวต้อนรับ “รศ.ดร.สักรินทร์ อยู่ผ่อง” คณบดีคณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน โดยได้รับเกียรติจาก “ดร.สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษ ซึ่งมีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่องเกี่ยวกับการเดินหน้าฝ่าวิกฤตโควิด-19 ของประเทศไทยในช่วงนี้

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการแง้มประตูเปิดประเทศว่า ขณะนี้มีความพร้อมรับมือหากเกิดโควิด-19 ระลอก 2 ไม่ว่าจะเป็น สถานที่กักตัวทางเลือก การจัดการอย่างเป็นระบบ การรักษา การจัดหาบุคลากรในการดูแลเฝ้าระวังอาการ รวมถึงการส่งต่อการรักษาพยาบาล หรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มั่นใจว่าควบคุมการแพร่ระบาดได้

“มีความพร้อมมากทั้งการรักษาและควบคุมโรค ถ้ามีผู้ติดเชื้อใน กทม. รับได้วันละ 200 คน ต่างจังหวัดมีศักยภาพรองรับประมาณ 10,000 เตียง ไม่รวมอาคารสนาม ส่งเสริมให้คนเดินทางเข้ามาได้ พร้อมรับและต้องเข้าสู่ระบบ”

Advertisement

ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 กำลังมา เพราะวันที่ 27 พ.ย. 63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการเซ็นสัญญาระหว่างสถาบันวัคซีนกับบริษัท “แอสตร้าเซนเนก้า” ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน เพื่อจัดซื้อวัคซีน โดยจะทำการจ่ายเงินไปก่อน 40% มีค่าบริหารจัดการ 10% และจะจ่ายครบเมื่อวัคซีนมาถึงทั้งหมด ซึ่งหลังจากที่ผลิตวัคซีนออกมา ไทยอาจจะขอจองไว้ 25 ล้านโดสต่อปี และในวันเดียวกันก็การมี MOU กับอโกด้า เพื่อให้คนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ สามารถจอง ASQ package ผ่านอโกด้าได้ ถือเป็นประเทศแรกที่จะร่วมมือกับแพลตฟอร์มที่คนรู้จักทั่วโลก สร้างความสะดวกให้กับคนที่จะเดินทางมาไทยจากทั่วโลก ซึ่งสอดรับกับความต้องการของคนที่อยากจะมาใช้บริการ Hospital Quarantine ของไทย ที่ขณะนี้มีความต้องการประมาณ 10,000 คน ด้วย

“ที่เสนอไปว่าจะลดการกักตัวเหลือ 10 วัน เพราะมีข้อมูลว่า 10 วัน กับ 14 วัน ต่างกันไม่มาก 10 วัน 1 ในแสนที่จะหลุด แต่เทียบกับการกักตัว ถ้าลดลงมา 4 วัน ที่รัฐต้องจ่ายตังให้กับคนไทยที่มา State Quarantine กับการส่งเสริมให้คนที่จะมาท่องเที่ยวกักตัวน้อยลง คนจะมามากขึ้น เราเทียบแล้วและเรามีมาตรการเสริม เปลี่ยนตรวจครั้งเดียวเป็นตรวจสองครั้ง ภายใต้ความพร้อมที่เรามีอยู่ จึงมั่นใจได้ว่าสามารถควบคุมได้และมีผลไม่ต่างกัน และจะช่วยฉุดเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมายืนได้โดยเร็ว”

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ กล่าวอีกว่า การที่จะสู้กับโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จต้องได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ต้องยอมรับว่ากลไกต่างจังหวัดของไทยมีความเข้มแข็ง และคนที่เข้มแข็งและเป็นเครื่องมือทำงานให้ สธ. คือ “อสม.” ถ้าไม่มี อสม. จะไม่สามารถกระจายตัวไปควบคุม-ดูแลการเดินทางระหว่างผู้มีความเสี่ยงไม่ให้มีโอกาสไปแพร่เชื้อได้ อสม. ได้รับการประกาศจาก WHO ว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต่อสู้กับโควิด-19 ได้สำเร็จ และเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีจิตอาสา 1.4 ล้านคน มีบางประเทศอยากทำตาม แต่ทำไม่ได้ เพราะต้องจ่ายเงิน

ขณะที่ด้าน ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. เผยว่า งานสัมมนาครั้งนี้ จะเกิดมุมมองสะท้อนกลับมาให้ระบบการศึกษาของ มจพ. มีทิศทางตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น บูรณาการกับศาสตร์ที่มีอยู่ทั้ง 3 วิทยาเขต รวมถึงนำมาพัฒนางานวิจัย สร้างนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในอนาคตได้มากขึ้น

“หลังวิกฤต อาจจะมีอุปสรรคและปัญหา ให้ปรับตัวหรือหยุดการพัฒนา การนำเทคโนโลยี ไม่ว่าเรื่องของ ดิจิทัล ระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เป็นมุมมองที่ภาคอุตสาหกรรมคงต้องมองอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์กับระบบการศึกษาของ มจพ. ที่จะต้องปรับเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับทั้งในภาคอุตสาหกรรมระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมา มจพ. มีนโยบายที่พยายามลดช่องว่างระหว่างการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด และระบบสหกิจศึกษาก็เป็นระบบหนึ่งที่ มจพ. พยายามที่จะให้ทุกหลักสูตรทำสหกิจศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบการทำงานในภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่รั้วมหาวิทยาลัย และให้คณาจารย์ได้นำโจทย์จากภาคอุตสาหกรรม มาทำเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ให้เด็ก หรือเป็นโจทย์ในการทำงานวิจัยต่อไป เหมือนเช่นวันนี้ที่ มจพ. ได้รับความร่วมมือเฟสที่ 2 กับ บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ เพื่อขยายความร่วมมือกันในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนานักศึกษาในโครงการสหกิจศึกษา การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรของบริษัท การวิจัยและพัฒนาในงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต การพัฒนาระบบบริหารจัดการงานของบริษัทด้วยเทคโนโลยีทางวิศวกรรมในด้านต่างๆ เป็นต้น”

ความพร้อมภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม
เปลี่ยนวิถีใหม่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย คุณศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม คุณมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณสฤษดิ์
จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรูคอร์เปเรชั่น และ ดร.นครินทร์ อมเรศ รองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วม “เปิดมุมมองธุรกิจอุตสาหกรรมไทยเพื่อสร้างความเข้มแข็งหลังวิกฤติ COVID-19” อีกบทบาทในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

คุณศุภกิจ บุญศิริ กล่าวว่า “กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็น Regulator ในการกำกับดูแลโรงงาน ส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชุน รักษาสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และมี พ.ร.บ.ในการกำกับดูแล 3 เรื่อง 1. พ.ร.บ.โรงงาน 2. พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และ 3.พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร ซึ่งปลายปี 62 ได้มีการปรับข้อกฎหมายให้รองรับกับสถานการณ์โควิด-19 และรองรับการทำงานตามนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรงงาน มีนัยยะหลายเรื่องที่มองเห็นถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล รวมทั้งพยายามชี้นำให้เห็นว่า “เทคโนโลยี” เป็นคำตอบสำคัญในการที่จะปรับเปลี่ยนหลายๆ เรื่อง ทั้งนี้ ผลจากการปรับเปลี่ยน พ.ร.บ. พบว่าตั้งแต่เดือน พ.ย. 62 จนถึงตอนนี้ มีการจดทะเบียน มีโรงงานที่เกิดขึ้นใหม่ และขยายเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้น 2,195 โรงงาน ซึ่งในจำนวนนี้มีอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตขึ้น”

คุณมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีสมาชิก 12,000 ราย จาก 25 สายงาน ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปลายปี 61 GDP เริ่มลดและติดลบ ประมาน -5.29% จนถึง -7.38% สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องยอมรับว่าย่ำแย่มากๆ ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน เดินทางเข้ามาใช้จ่ายเฉลี่ย 45,000 บาท ต่อคนต่อทริป แต่ 8 เดือนที่ผ่านมา มาแค่หลักหมื่นคน ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 1.9 ล้านคน มี 0.94 ล้านคน ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย และ มีอีก 0.97 ล้านคน ที่ถูกเลิกจ้างกับลาออก ซึ่งก็คาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้ ทั้งในและนอกระบบ คนจะไม่มีงานทำประมาณ 7.4 ล้านคน ซึ่งรวม 1.9 ล้านคนไปด้วย นั่นหมายความว่า อีกประมาณ 5 ล้านคน ที่อยู่นอกระบบและอยู่ทั่วไปในไทย กำลังจะไม่มีงานทำ จึงมองว่าสิ่งที่จะสามารถช่วยปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานได้ คือต้องเริ่มมีนวัตกรรม เช่น SME ต้องไม่เป็นแค่คนผลิตสินค้าแล้วปักยี่ห้อคนอื่น ไทยมีสมุนไพรที่สกัดได้อย่าง “เอทานอล” ที่สามารถเป็นวัตถุดิบของยาระบาย ต้องไม่ ส่งออกไปอินเดิยแล้วให้เขาผลิตเป็นยามะขามป้อม 100% มาขายที่ไทย เป็นต้น”

คุณสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กล่าวว่า “ความพร้อมคือการปรับตัว น่าจะมีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่องการบริหารองค์กร ประเด็นที่สองคือเรื่องการเตรียมทรัพยากรบุคคล สิ่งสำคัญในการบริหารองค์กรก็คือการกำหนดบริษัท ว่าจะไปทางไหนจะต้องมีเทคโนโลยีอย่างไรเข้ามาช่วยเสริม หรือเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับหรือให้บริการกับลูกค้า ถ้าเรากำหนดทิศทางได้ชัดเจน เราก็จะสามารถเตรียมทรัพยากรบุคคลได้อย่างตรงจุด และเมื่อเห็นทรัพยากรบุคคล ก็จะสามารถเซ็ตโปรแกรมอัพสกิล-รีสกิล ให้พนักงานสามารถบังคับทิศทางองค์กรที่จะไปในอนาคตได้ ซึ่งไม่นาน 5G จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตของคนในอนาคตอันใกล้ จะมียูสเคสเป็นพันยูสเคส ดังนั้น เทคโนโลยีที่ทรูมุ่งเน้น จึงไม่ได้ตอบสนองความสะดวกสบายเฉพาะบุคคลอย่างเดียว จะต้องเชื่อมโยงไปถึงความปลอดภัยในเรื่องของสุขภาพ และสังคมรอบข้างทั้งหมดด้วย”

ดร.นครินทร์ อมเรศ กล่าวว่า “ตัวที่จะช่วยให้ GDP ขยายตัว คือการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ค่อนข้างดีใจว่าอย่างน้อยมีแรงสนับสนุนอยู่บ้าง ส่วนตัวค่อนข้างประทับใจการบริโภคในประเทศ -3.5% ปีนี้ หรือ บวก 2% ในปีหน้า เป็นตัวเลขที่ไม่แย่ถ้าเทียบการลงทุนและส่งออก ทั้งนี้ ถ้าการค้าโลกยังไม่ดีขึ้น การท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังไม่ดีขึ้น สถานการณ์เหล่านี้ผู้ดำเนินการภาครัฐทำอะไรบ้าง ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย ปีนี้ก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง ซึ่งลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 1.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ถือต่ำสุดกว่าประวัติศาสตร์ ซึ่งอยากให้สบายใจได้ว่าเราคงทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำต่อเนื่องต่อไปเนื่องด้วยเศรษฐกิจยังต้องการต้นทุนที่ถูก ยังต้องการสภาพคล่อง ในการกระตุ้นเรายังทำอยู่ นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน คือการพักการชำระหนี้ แต่ไม่พักหนี้ให้ทุกคนเพราะจะทำให้คนที่ได้สภาพคล่องถูกมากแล้วไปเก็งกำไรบางมิติได้ แต่จะให้เจรจากันเป็นรายๆ ได้”

ทั้งหมด สะท้อนภาพการเปลี่ยนผ่านในยุคโควิด-19 และบทบาทของทุกๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ที่ร่วมกันฟื้นฟูพัฒนาทุนทางสังคมและสร้างความเข้มแข็ง และแชร์มุมมองในทุกระดับ เพื่อนำพาประเทศไทยพ้นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยในรอบนี้ไปให้ได้ และสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในโลกได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image