ไฟเขียว! เช่าที่ดินราชพัสดุ 35 ไร่ ประกอบกิจการงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย หนุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่จะเปิดในปี’68

เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญระดับเมกะโปรเจค ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีระบบการจัดการ และการดูแลน้ำที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับจำนวนการใช้น้ำอย่างมหาศาลจากกิจกรรมเชิงพาณิชย์และการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ ภายในพื้นที่ของ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกซึ่งงานนี้ได้มืออาชีพอย่าง “อีสท์ วอเตอร์” เข้ามาบริหารจัดการเรื่องน้ำแบบครบวงจร

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยนางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในฐานะผู้ให้เช่า ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ กับ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์” โดยนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในฐานะผู้เช่า เป็นผู้ลงนามในสัญญาเช่า พร้อมด้วยพยานจากทั้งสองฝ่าย คือ พลเรือเอก วศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ และนายชรินทร์ โซนี่ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) เพื่อประกอบกิจการงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2563

สำหรัลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถือว่าเป็น 1 ใน 5 วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่องประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในโครงการอีอีซี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และกิจการเชิงพาณิชย์ ตลอดจนส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและ Logistic & Aviation Hub และการเป็นศูนย์กลาง “มหานครการบินภาคตะวันออก”

Advertisement

นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการเอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP ที่ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยสัญญาร่วมลงทุนได้กำหนดไว้ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเป็นผู้จัดหาสาธารณูปโภคประปาและระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องใช้ในพื้นที่โครงการฯ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยและเป็นศูนย์กลางด้านการบินในอนาคต ทั้งนี้ กองทัพเรือและ สกพอ. เล็งเห็นความสำคัญของการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าภายในพื้นที่โครงการ จึงได้กำหนดให้มีขอบเขตของการนำน้ำกลับมารีไซเคิล ระบุในเอกสารการคัดเลือกผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการสาธารณูปโภคนอกเหนือจากงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย

สกพอ. จึงมอบหมายให้กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานร่วมเจ้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกและหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์พื้นที่อยู่เดิม ดำเนินการคัดเลือก โดย อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริมฯ พื้นที่ 35 ไร่ เพื่อประกอบกิจการด้านงานระบบประปา ระบบน้ำเสีย ระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือน้ำรีไซเคิล ตลอดระยะเวลาสัญญา 29 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อันจะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขันในฐานะประตูเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย

ด้าน นายโชคชัย ปัญญายงค์ ที่ปรึกษาพิเศษโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวเสริมว่า การจัดการระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลัก เพราะการที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุน สิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่น ก็คือโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากๆ โดยในส่วนของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา หลักๆ คือการพัฒนาให้สนามบินเปิดให้บริการได้ในปี 2568 โดยองค์ประกอบหรือโครงสร้างพื้นฐานต้องแล้วเสร็จ การพัฒนาน้ำ ต้องผลิตน้ำให้ได้ภายใน 2 ปี แม้สนามบินจะยังไม่เปิด

Advertisement

“อัตราค่าเช่าที่ดินราชพัสดุ เฉลี่ยเดือนละประมาณ 114,000 บาท จะมีการปรับเพิ่มราคาค่าเช่าต่อเดือนเป็นอัตรา 9% ทุกๆ 3 ปี การเทียบอัตราค่าน้ำของนิคมอุตสาหกรรมใน EEC จะต้องขายถูกกว่า นี่เป็นเงื่อนไขหนึ่งในสัญญา เพราะเราต้องการให้เป็นสนามบินที่มีประสิทธิภาพและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในต้นทุนที่ดี”

ขณะที่ด้าน นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยว่า “วันนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ มีการลงนามเช่าที่ดินราชพัสดุร่วมกับ สกพอ. เพื่อเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำครบวงจรทั้งระบบ ซึ่งจะรองรับการใช้น้ำที่เกิดจากการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดีด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญของอีสท์ วอเตอร์ พร้อมก้าวสู่การเป็น “Total Water Solutions” จะช่วยสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อรองรับการเติบโตของทุกภาคส่วนตามนโยบายโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย”

ทั้งนี้ อีสท์ วอเตอร์ มีแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา โดยมีระบบท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล – ดอกกราย – มาบตาพุด – สัตหีบ สามารถส่งจ่ายน้ำดิบได้มากถึง 318 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 0.87 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการวางท่อส่งน้ำมาบตาพุด –สัตหีบ เส้นที่ 2 เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต เพิ่มศักยภาพการส่งจ่ายน้ำดิบในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้อย่างเพียงพอยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์ ยังมีการออกแบบระบบผลิตน้ำประปา ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขนาดกำลังการผลิต 20,000 ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งเป็นการผลิตน้ำประปาที่สะอาดมีคุณภาพระดับสากล ลดการใช้พื้นที่ติดตั้ง มีกำลังการผลิตได้ตามความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้เหมาะกับโครงการที่เป็นการพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว รองรับน้ำเสีย 16,000 ลบ.ม. ต่อวัน เป็นการบริหารจัดการน้ำเสียที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบสนามบิน โดยทางอีสท์ วอเตอร์ สกพอ. และกองทัพเรือ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเสียในพื้นที่สนามบินฯ เป็นอย่างมาก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนและชุมชนโดยรอบสนามบิน ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนในระบบนิเวศ สร้างระบบน้ำรีไซเคิลกำลังการผลิต 5,000 ลบ.ม. ต่อวัน โดยนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในระบบทำความเย็นกลาง เน้นย้ำให้เห็นถึงการเป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการน้ำครบวงจร และใส่ใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านน้ำ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของโครงการอีอีซี ในอนาคต

“เรามีความพร้อมจากทั้งแหล่งน้ำดิบที่มีโครงข่ายที่เชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมดในภาคตะวันออก และมีแหล่งน้ำดิบอื่นๆ ที่เราพัฒนา ซึ่งจะสร้างเสถียรภาพให้กับโครงการและระบบน้ำทั้งหมดในพื้นที่ EEC เป็นโครงการที่จะผลักดันให้ไทยก้าวหน้า และยกระดับการแข่งขันของประเทศให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น ระบบทุกอย่างที่เราใช้เป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยและประหยัดพลังงาน ทุกแฟคเตอร์เรายึดความยั่งยืน ซึ่งน้ำที่เสียนำกลับมาบำบัดเพื่อใช้ในพื้นที่สีเขียวได้อีก และคุณภาพน้ำก็มีมาตรฐานสูงที่สุด”

เป็นการส่งสัญญาณที่ดีของการขับเคลื่อนเมกะโปรเจค ที่เดินไปตามแผน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยทำให้การก่อสร้างสนามบินฯ แล้วเสร็จได้ปี 65 และพร้อมเปิดใช้ในปี 68 ได้ต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image