“TCEB” เปิดโมเดลความสำเร็จ ศบค. ไม่กักตัวไมซ์อินเตอร์ 14 วัน โชว์ “ประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า” มาแรงปี’64 หวัง 3 หมื่นล้าน

TCEB” เปิดโมเดลความสำเร็จ ศบค.นำซีอีโอญี่ปุ่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเข้าไทยไม่กักตัว 14 วัน เข้ามาปฏิบัติภารกิจลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท สะท้อนศักยภาพมาตรการคุมโควิด-19 ไทยเข้มแข็งจ่อใช้เป็นต้นแบบขยายตลาดไมซ์อินเตอร์อย่างเป็นระบบปี’64 พร้อมโชว์  “โครงการประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” กระแสนิยมไมซ์ในประเทศพุ่ง เป็นแรงส่งปีหน้ายอดโตเพิ่ม 3.5 % นำรายได้เข้าระบบเศรษฐกิจกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) “ศบค.” และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 (ศบศ.) ที่มีพลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นประธาน ได้สร้างมิติใหม่ส่งสัญญาณที่ดีเพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ทีเส็บและอุตสาหกรรมไมซ์ทดลองใช้โมเดลต้นแบบนำนักธุรกิจต่างชาติเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนโดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน State Qualantine สำเร็จสามารถทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายในเวลาเพียง 3 วัน มีเม็ดเงินการลงทุนในไทยเกิดขึ้นกว่า 2,000 ล้านบาท

หลังจาก ศบศ.ให้การสนับสนุนซีอีโอญี่ปุ่นจากบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาทำภารกิจระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2563 โดยประสานงานตรงมายังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วทีเส็บนำเสนอที่ประชุม ศบศ.และศบค.อนุมัติให้เดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องทำ State Qualantine (SQ) 14 วัน แต่ใช้มาตรการคุมเข้มตั้งแต่ต้นทางจากญี่ปุ่นเข้าไทยและการดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศเพื่อทำภารกิจจนลุล่วงสำเร็จแล้วเดินทางกลับทันที

Advertisement

โมเดลนี้ทางซีอีโอญี่ปุ่นกลุ่มนี้ร่วมมือเป็นอย่างเข้มข้นทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่เริ่มเดินทางโดยผ่านการตรวจโควิด-19 ในญี่ปุ่น เช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวโดยสารเข้าไทย ตรวจโควิดรอบสองในไทย เลือกพักโรงแรมที่ทางชมรม State Qualantineคัดเลือกไว้เลือกไว้ให้ แล้วบินเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวไปตรวจโรงงานในจังหวัดชลบุรี เมื่อเสร็จงานก็เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวกลับญี่ปุ่นทันทีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ถือเป็นความสำเร็จอย่างงดงาม สะท้อนให้เห็นถึง “ศักยภาพ” การควบคุมดูแลด้านบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศไทย แบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นกรณีๆ อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาทำภารกิจโดยไม่ต้องกักกันตัวหรือเข้า State Qualantine 14 วัน

ขณะเดียวกันทางทีเส็บก็ทำงานอย่างหนักร่วมกับพันธมิตรคือ สมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ(ไทย) “ทิก้า” และสมาคมโรงแรมไทย จัดอบรมบุคคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์กลุ่มหลักคือ “ผู้จัดงาน : Destination Management Company : DMC” เตรียมไว้รองรับตลาดไมซ์ต่างประเทศในอนาคต เพื่อใช้กับโมเดลนำนักธุรกิจต่างชาติเข้าไทยโดยไม่ต้องทำ State Qualantine 14 วัน ซึ่งมีแนวโน้มจะเปิดกว้างมากขึ้นเรื่องการอนุญาตให้ซีอีโอหรือนักลงทุนเข้ามาตามโมเดลของซีอีโอญี่ปุ่นหรือจัดประชุมนัดพิเศษแบบปิด (Execlutive meeting) ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของไทยอย่างเคร่งครัด ส่วนเจ้าหน้าที่ทุกกลุ่มที่ให้บริการดูแลซีอีโอหรือกลุ่มประชุมพิเศษเมื่อเสร็จแต่ละงานก็จะต้องกักตัวตามปกติ 14 วัน

Advertisement

นายจิรุตถ์กล่าวว่ากรณีการไม่กักตัวซีอีโอต่างชาติที่เข้ามา 14 วัน ตามโมเดลตัวอย่างครั้งนี้ สามารถอธิบายคนในประเทศไม่ต้องกังวลใจ เนื่องจากทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาและทางทีมงาน DMC กับเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค สาธารณสุข ปฏิบัติเข้มทุกขั้นตอนจนถึงส่งขึ้นเครื่องบินส่วนตัวกลับไปญี่ปุ่น ใช้เครื่องมือและระบบการแพทย์ตรวจละเอียดปลอดโรคปลอดเชื้อแน่นอน เพราะซีอีโอกลุ่มดังกล่าวทำข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เพื่อปฏิบัติภารกิจจนแล้วเสร็จ ไม่ได้ออกนอกเส้นทางแต่อย่างใด

ส่วนกลุ่มหรือคณะของไมซ์ต่างชาติที่มีแนวโน้มจะได้รับการพิจารณาอันดับแรก น่าจะเป็นกลุ่มได้รับการส่งเสริมให้เข้ามาลงทุนกับบีโอไอ หรือมาประชุมกรรมการบริษัท องค์กร เพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ไทยมากกว่าจะเป็นกลุ่มมาเพื่อการท่องเที่ยว

นายจิรุตถ์ กล่าวต่อถึงไมซ์ในประเทศหลังจัดทำโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” รณรงค์ให้องค์กรเอกชนเร่งจัดประชุมสัมมนาและให้รางวัลพนักงานเดินทางในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ไปยังชุมชนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตลอด 4 เดือน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม – 20 ตุลาคม 2563 ได้รับความสนใจจากเอกชนไมซ์ร่วมโครงการ 1,049 กลุ่ม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ทั้งหมด 62,555 คน กระจายจัดงานทุกภาคทั่วประเทศใน 50 จังหวัด สร้างรายได้หมุนเวียนในธุรกิจ130 ล้านบาท ปี 2564 ตั้งเป้าจะเร่งส่งเสริมตลาดไมซ์ในประเทศเติบโตเพิ่มอีกประมาณ 3.5% จากนักเดินทางรวม 10 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 30,000 ล้านบาท

ตามสถิติงานที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจัดไมซ์น องค์กรบริษัทส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการจัดประชุมสัมมนาตลอดจนกิจกรรมที่ช่วยสร้างทีมเวิร์คองค์กร ซึ่งการส่งเสริมจัดประชุมสัมมนาในประเทศจึงเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยสามารถกระจายรายได้สู่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องลงถึงฐานรากระดับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” นั้นทีเส็บใช้งบประมาณไปกว่า 20 ล้านบาท เน้นสนับสนุนองค์กรเอกชนขอสนับสนุนเงินตามเงื่อนไขที่กำหนดในรูปแบบบัตรกำนัลมูลค่าสูงสุดไม่เกินกลุ่มละ 30,000 บาท มีผลตอบรับดีมากกระแสเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ตามกลยุทธ์มุ่งสนับสนุนแบ่งเป็น 6 กิจกรรม โดยมีเอกชนเข้าร่วมตามสัดส่วนดังนี้ 1.การสัมมนาองค์กร 35% คิดเป็น 315 งาน จากทั้งหมด 896 งาน 2.การประชุมองค์กร 27% มี 246 งาน 3.กิจกรรมนอกสถานที่ทำการของบริษัท 14% มี 127 งาน 4.กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ 10% มี 94 งาน 5.กิจกรรมเพื่อสังคม 9% มี 81 งาน และ 6.การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลองค์กร 4% มี 33 งาน

ส่วนการจัดงานตามคอนเซ็ปต์แนวคิด 7 รูปแบบ ผลปรากฎว่า 1.กิจกรรมการสร้างทีมเวิร์ค หรือ Team Building ได้รับความนิยมสูงสุดถึง 63% คิดเป็น 377 งาน จากทั้งหมด 596 งาน 2.กิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ 15% มี 88 งาน 3.ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 10% มี 59 งาน 4.กิจกรรมบรรยากาศชายหาด 5% มี 31 งาน 5.การจัดงานและกิจกรรมหรูหรามีระดับ 4% มี 23 งาน 6.กิจกรรมนำเสนออาหารไทยในทุกการจัดงานที่หลากหลาย 2% มี 11 งาน และ 7.การผจญภัย 1% มี 7 งาน

เรื่องโดย…เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน บล็อกเกอร์#gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image