‘10 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ’ จาก ‘เรือนจำต้นแบบ’ สู่ ‘ก้าวที่ไม่โดดเดี่ยว’ เพื่อผู้หญิงที่เคยก้าวพลาด

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำถึง 346,706 คนในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังที่เป็นหญิง 43,599 คน ในขณะที่เรือนจำทั่วโลกรวมทั้งในไทยถูกสร้างขึ้นเพื่อผู้ต้องขังชาย

การใช้ชีวิตในเรือนจำของผู้ต้องขังที่เป็นผู้หญิง จึงเสมือนถูกลงโทษซ้ำๆ ด้วยปัญหาด้านสุขอนามัยของผู้ต้องขังหญิงภายในเรือนจำความละเอียดอ่อนด้านเพศสภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องขังหญิงกำลังตั้งครรภ์ที่อาจต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วยังต้องเผชิญกับสภาวะว่างงาน อันเป็นผลมาจากการถูกตีตราทางสังคม

ด้วยพระดำริและน้ำพระทัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ประทานแก่ผู้ต้องขังหญิงทุกคนในประเทศไทย ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ หรือ ‘Bangkok Rules’ ซึ่งเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 และมีผลตามมา จนสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย ภายใต้แนวทางการยกระดับมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและผู้กระทำผิดหญิง เพื่อให้สอดคล้องความต้องการเฉพาะด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนา ‘โครงการเรือนจำต้นแบบ’ ที่ให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยของเพศหญิง หากผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตรจะมีห้องสำหรับเลี้ยงเด็ก เพื่อให้ลูกได้อยู่กับแม่จนถึงอายุ 1-3 ขวบ มีการฝึกวิชาชีพที่หลากหลาย เช่น เสริมสวย นวดเพื่อสุขภาพ ตัดเย็บเสื้อผ้า บาริสต้า ทำอาหารและเบเกอรี่ ตลอดจนงานบริการต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ

Advertisement

ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนของ ‘สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย’ หรือ TIJ ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และภาคีเครือข่ายอื่นๆ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJกล่าวถึงสิ่งที่ได้ทำตลอดระยะเวลา 10 ปีของข้อกำหนดกรุงเทพว่าเพียงจุดเริ่มต้นก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ จากการที่ประเทศไทยได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาและผลักดันกระทั่งได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ ในส่วนของ TIJ ก็ลงมือทำมาก่อนหน้านี้แล้วจนได้เป็น 1 ใน 18 องค์กรที่เป็นเครือข่ายสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ซึ่งมีการทำงานร่วมกันทั้งงานวิจัยและการอบรมทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเฉพาะกรมราชฑัณฑ์ที่จัดทำโครงการเรือนจำต้นแบบที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง ปัจจุบันมีอยู่ทั่วประเทศถึง 15 แห่ง และมีเครือข่ายทั่วทุกภูมิภาคมาเรียนรู้เพื่อนำกลับไปเป็นแนวทางพัฒนาเรือนจำของแต่ละประเทศ

Advertisement

“เรือนจำต้นแบบก็ยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ แนวคิดภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Every Steps Together : ก้าวที่ไม่โดดเดี่ยว’ ด้วยการระดมความร่วมมือจากสังคมเพื่อให้ผู้ก้าวพลาดได้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงาน ผ่านการปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่ว่า เรือนจำไม่ใช่แค่เพียงสถานที่ในการลงโทษ แต่เป็นสถานที่ที่ทำให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นฐานในการยืนได้อย่างมั่นคงต่อไปในวันที่ได้รับอิสรภาพคืนมาแล้ว”

ความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชนกว่า 30 แห่ง ภายใต้ระบบนิเวศธุรกิจที่มุ่งเน้นการส่งเสริมอดีตผู้ต้องขังหญิงสู่ตลาดแรงงานภายในระบบนี้ ทำให้เกิดการฝึกอบรมอาชีพที่ตรงความต้องการของตลาดแรงงานโดยมุ่งเน้นที่งานเกี่ยวกับดิจิทัล เช่น แนวทางการสร้างคอนเทนต์ทางออนไลน์ การใช้แพลตฟอร์ม เดลิเวอรี่ โดยมีการระดมทุนเพื่อสร้างบริการสู่สังคม มีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 150% ของค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน นอกจากนี้ก็ยังมีการส่งเสริมให้เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กต่อยอดจากความสำเร็จของธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอาหารทางออนไลน์

“ทั้งโครงการเรือนจำต้นแบบและแนวคิด Every Steps Together : ก้าวที่ไม่โดดเดี่ยว ภายใต้ข้อกำหนดกรุงเทพ ใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘กำลังใจโมเดล’ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และเมื่อผนึกกำลังความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรทั้งกว่า 30 แห่ง ก็จะเกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ที่จะนำพาสังคมไทยให้ก้าวต่อไป ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้พ้นโทษได้เริ่มต้นชีวิตใหม่แล้ว ยังเป็นอีกแนวทางการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำได้อย่างยั่งยืน”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image