ไทย หนึ่งเดียวในอาเซียน “ปลอดโรค ASF” ปี 63 ส่งออกสุกรเพิ่ม 400 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 23,000 ล้านบาท

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร  หรือ African swine fever : ASF เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกรทุกชนิด แม้โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ถือว่าเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรอย่างมาก เนื่องจากหากมีการระบาดแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ขณะเดียวกันเชื้อไวรัสที่ก่อโรค คือ ASFV หรือ African swine fever virus มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูงและสามารถปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่นไส้กรอก แฮม เนื้อสุกรและซาลามีได้ นอกจากนี้สุกรที่หายป่วยแล้วจะสามารถแพร่โรคได้ตลอดชีวิต และยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความความรุนแรงมาก โดยทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราป่วยและตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF  คือโรคระบาดในสุกรที่เป็นมหันตภัยร้ายแรง นำมาซึ่งความสูญเสียกับทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของทุกประเทศที่เกิดการระบาด

ไทย หนึ่งเดียวในอาเซียนที่ไม่พบการระบาด

Advertisement

ในวันนี้ สำหรับประเทศไทย กล่าวได้ว่า คือ ประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังไม่พบการระบาดของโรค ASF ในฟาร์มเลี้ยงสุกร ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่ทำให้เกิดความสูญเสียจากภาวธการระบาดของโรค แต่ยังเป็นผลดีต่อการสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศ

โดยในปี 2563 นี้ ประเทศไทยสามารถส่งออกสุกรมีชีวิตมากกว่า 2,200,000 ตัว เนื้อและผลิตภัณฑ์ มากกว่า 54,000 ตัน คิดมูลค่ารวมกว่า 23,000 ล้านบาท ไปยังประเทศกัมพูชาคิดเป็นปริมาณสูงกว่าปี 2562 ที่ผ่านมาอย่างก้าวกระโดดถึง 400 %

Advertisement

ความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพราะความสามารถในการป้องกันการเกิดการระบาดจึงทำให้สุกรของประเทศไทยเป็นที่สนใจของตลาดต่างประเทศ ที่ต้องการนำเข้าสุกรจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ที่ปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดสารเร่งเนื้อแดง เพื่อป้อนผู้บริโภคของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เกิดการระบาดของโรค ASF โดยล่าสุดผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยได้มีการลงนาม MOU การส่งออกสุกรไปยังประเทศเวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว

ที่สำคัญอีกประการ นั่นคือ การได้รับความยอมรับจากนานาชาติในฐานะของครัวของโลกที่มีความโดดเด่นด้านความปลอดภัยด้านอาหาร หรือ Food Safety ที่นำมาซึ่งความเชื่อมั่นและยอมรับสินค้าปศุสัตว์ไทย อันนำไปสู่โอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังทุกประเทศในทุกมุมโลก

ปัจจัยที่เป็นปราการด่านสำคัญที่ช่วยป้องกัน

สำหรับสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ อันส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการป้องกันการระบาดของโรค ASF ยังคงสถานะ “ปลอดโรค ASF” มานานกว่า 2 ปี จนเป็นไข่แดงเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้นั้น เกิดขึ้นจากการร่วมมือและสนับสนุนจากรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคเอกชน เกษตรกร สมาคมต่างๆ สถาบันการศึกษาและองค์การระหว่างประเทศ

อันนำมาสู่การเตรียมความพร้อมในการวางแผนการป้องกัน จนสามารถก้าวมาสู่ชัยชนะในวันนี้ไม่ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีการเตรียมการทั้งเชิงรับและเชิงรุก เช่น การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน การจัดทำแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และการจัดการโรค ASF ภายใต้แผนดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะก่อนเผชิญเหตุการณ์ระบาด ระยะเผชิญเหตุการระบาด และระยะหลังเผชิญเหตุการณ์ระบาด โดยมีมาตรการตามแผนเตรียมความพร้อมรับ 8 ด้าน เช่น   การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคของฟาร์ม การเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังโรค การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ การสนับสนุนให้มีการใช้ระบบ Clinical Practice Guidelines (CPG) ในฟาร์มของเกษตรกร เป็นต้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการป้องกัน โดยคณรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกระดับแผนเฝ้าระวังเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2562 พร้อมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน

แต่ที่ถิว่าเป็นพลังสำคัญที่ช่วยส่งผลให้ประเทศไทยสามารถยืนหยัดจนเป็นประเทศเดียวที่ปลอดโรค ASF ได้คือ ความร่วมมือของภาพเอกชน สมาคมต่าง ๆ และเกษตรกร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถึง 26 หน่วยงาน เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่ได้สับสนุนด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง  เช่น สนับสนุนการก่อสร้าง ศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ทั้งภายในประเทศ และชายแดนถึง 7 แห่ง การปรับปรุงระบบขนถ่ายสุกรให้มีความปลอดภัย หรือที่เรียกว่า แท่นทอยหมู ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ และอื่นๆ

ดังนั้นเพื่อเป็นการขอขอบคุณ และเป็นกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงาน ป้องกัน เฝ้าระวัง โรค AFS ในสุกร ที่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งต่อไป สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดย นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจึงได้มีการจัดงานขอบคุณและให้กำลังใจขึ้น เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ
เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

แม้วันนี้ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ยังเป็นภัยร้ายแรงที่คุกคามอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรทั่วโลก แต่นั่นคือ สิ่งสำคัญที่ทุกหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังร่วมมือร่วมใจทุ่มเทและทำงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องและรักษาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยให้ยั่งยืน และยืนหนึ่งในฐานะครัวของโลกตลอดไป…

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image