A little farmers organic farm อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

                                                   คุณสาริสา นามสิน (กิ๊บ)

          “หนูอยากทําให้นครปฐมของเรา เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักอินทรีย์ เพราะว่านครปฐมมีโรงเรือนหมูเก่าๆ ที่เขาเลิกเลี้ยงไปแล้วเยอะพอสมควร ถ้าเกิดว่านครปฐมเรามีสวนผักแบบนี้เยอะขึ้นนะคะ  มันคงจะดี แล้วมันคงจะเจ๋งน่าดู”

สาริสาและสามีตัดสินใจทิ้งงานเงินเดือนหลักแสนที่กรุงเทพ หันมาเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด เนื่องจากอยากกลับมาดูแลครอบครัวพ่อแม่ที่อายุมากแล้ว และมองเห็นโอกาสจากการพัฒนาโรงเรือนสุกรเก่าที่ไม่ได้ใช้งานของครอบครัวมาแปลงเป็นโรงเรือนปลูกผักอินทรีย์ จากนั้นยังได้บริหารจัดการพื้นที่ว่างที่เหลือทำเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ผสมผสานด้วยการเลี้ยงไก่ไข่ เป็ดไข่ พัฒนาต่อยอดจนได้รับมาตรฐาน Organic Thailand

Advertisement

“ที่ฟาร์มเราแบ่งเป็นปลูกผัก และก็เลี้ยงไก่ไข่นะคะ ไก่เราเลี้ยงแบบระบบปล่อยอิสระ ที่เราเลี้ยงไก่ก็เริ่มมาจากที่บ้านมีแนวคิดว่าอยากจะให้ที่แห่งนี้ เป็น Zero Waste ก็คือของเสียทุกอย่าง เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด พอเศษผักมันเยอะขึ้น ก็เลยรู้สึกว่าเอามาเลี้ยงไก่ไข่ดีกว่า”

ในจุดเริ่มต้น สาริสาไม่มีพื้นฐานด้านการเกษตรมาก่อนเลย จึงเริ่มศึกษาด้วยตัวเองจาก Youtube  และเรียนรู้จากฟาร์มอื่นๆ โดยตอนแรกเป็นการปลูกเพื่อทานเอง และทดลองขายทางออนไลน์ ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนเธอเริ่มรู้สึกจริงจังกับธุรกิจการเกษตร จึงมองหาแหล่งเงินทุนและได้พบกับพี่ๆ ธ.ก.ส

Advertisement

นิมิต เฉี้ยนเงิน ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขานครปฐม  “ลูกค้ารายนี้ได้เข้าไปติดต่อกับทางธนาคารนะครับ เพื่อจะขอกู้เงินมาลงทุนทำการเกษตร ซึ่งยังเป็นคนหนุ่มสาว เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ทางธนาคารวิเคราะห์โครงการแล้วมีความเป็นไปได้ ก็อนุมัติสินเชื่อ แล้วหลังจากนั้น 2 – 3 เดือน ธนาคารก็ได้เชิญชวนเขาไปอบรมเสริมความรู้ หาประสบการณ์ และเครือข่าย ซึ่งการอบรมครั้งนี้เราจะสอนตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป และการตลาดนะครับ แล้วก็มีพันธมิตรเครือข่ายต่างๆ ที่มาร่วมกันตั้งแต่ฟาร์มหมู ฟาร์มปลา ฟาร์มกุ้ง แล้วก็หลายๆ ตัวอย่างที่มาพบปะพูดคุยกัน เพื่อต่อยอดความรู้ซึ่งกันและกัน”

สาริสาเล่าว่าตอนที่เธอเริ่มกลับมาทําเกษตรใหม่ๆ ยังไม่ค่อยรู้จักใครมากนักเนื่องจากทํางานอยู่แต่ในเมืองมาตลอด จนกระทั่ง ธ.ก.ส พาไปอบรม ทําให้เธอมีเครือข่ายเกษตรกร ได้รู้จักเพื่อนที่ทําเกษตรเหมือนกัน จนมีมุมมองที่กว้างขึ้นในเรื่องการเกษตร “กิ๊บคิดว่าถ้าเป็นธนาคารอื่น คงไม่มีแบบนี้ ที่พาเราไปสร้างเครือข่ายเกษตรกร ก็คงมีแต่ที่ ธ.ก.ส นี่แหละค่ะ”

สำหรับรายได้จากการทําเกษตรอินทรีย์นั้น สาริสาบอกว่าเพียงพอสามารถเลี้ยงดูครอบครัวและดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี เธอจึงเริ่มกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน เช่น ให้ผู้สูงอายุในชุมชนเลี้ยงไส้เดือน มูลไส้เดือนก็จะนำมาใช้เองในฟาร์ม และแบ่งบรรจุขายปลีกให้กับลูกค้า  และชักชวนเพื่อนๆ ให้ปลูกผักอินทรีย์แล้วเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อขายผักในฟาร์มของเธอ

กวี อิ่มเพชร พนักงานพัฒนาธุรกิจ ธ.ก.ส. สาขานครปฐม “เครือข่ายของคุณกิ๊บมีความเข้มแข็งดีนะครับ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มก็จะมีการรวบรวมสินค้าการเกษตรมาขายในช่องทางของคุณกิ๊บ ตอนนี้ทาง ธ.ก.ส. ก็จะพยายามผลักดันต่อยอดเรื่องให้คุณกิ๊บมีเครือข่ายภายในกลุ่มของเกษตรกรทั่วๆไปมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรทั่วไปมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะมีการจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นครับ ทาง ธ.ก.ส. ก็มีนโยบายในการผลักดันลูกค้ารายนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในสำหรับเกษตรกรทั่วไปด้วยนะครับ เพราะคุณกิ๊บสามารถเป็นผู้ถ่ายทอดเป็นวิทยากรในการให้ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์หรือการทำเกษตรแบบใหม่ๆ ให้กับคนอื่นได้ครับ”

สำหรับความประทับใจที่มีต่อพี่ๆ ธ.ก.ส. สาริสาบอกว่า ถ้าพูดถึง ธ.ก.ส นะคะ ประทับใจเขาตรงที่เขาดูแลเราเหมือนครอบครัว จะทําธุรกิจหรือขยายธุรกิจ หนูก็จะนึกถึงเขาก่อนค่ะ และเวลาเขามีอะไรดีๆ เขาก็จะนึกถึงหนู อย่างเช่น มีตลาด มี Event เขาก็จะบอกหนู แนะนําหนู คือมันไม่ใช่เหมือนเป็นธนาคารที่แค่เรากู้เงินมาแล้วก็เดินเข้าไปจ่ายดอกเบี้ยคะ มันเหมือนครอบครัวที่เขาเหมือนพ่อแม่นะคะ คือเขาอยากให้หนูโต อยากให้หนูประสบความสําเร็จทางด้านธุรกิจ ก็ทั้งหมดที่พูดมาไม่ได้อวยนะคะ ก็คือเป็นความประทับใจของหนู ที่มีต่อ ธ.ก.ส จริงๆ ค่ะ”

          “กิ๊บรู้สึกภูมิใจมากเลยนะคะ ที่ได้มาทําอาชีพเกษตรกรเต็มตัวจากที่เราไม่มีความรู้เลย เราทําได้ถึงขนาดนี้ ก็ภูมิใจในตัวเองนะคะ แล้วก็นอกเหนือจากนั้นคือ เราได้กลับมาอยู่กับครอบครัว ได้ดูแลพ่อแม่ค่ะ ก็มีความสุขเติมเต็มชีวิตของเราค่ะ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image