ปิดทองหลังพระฯจ้างคนว่างงาน พัฒนาแหล่งน้ำส่งเสริมอาชีพขยายผลช่วยเกษตรกรพื้นที่แล้งซ้ำซาก เสริมรัฐบาลขับเคลื่อนแผนจัดการน้ำ 20 ปี

ผลการสร้างงานรองรับคนตกงานจากปัญหาโควิด-19 และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากแบบครบวงจรระยะ 1 สัมฤทธิ์ผลเกิดคาด ปิดทองหลังพระฯ เดินหน้าขยายผลครอบคลุม 9 จังหวัด จ้างคนว่างงานอีก 612 คน เป็นพี่เลี้ยงปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำ ได้พื้นที่รับประโยชน์อีกกว่า 6 เท่า ผู้รับผลเพิ่ม 8 เท่า บูรณาการร่วมมือรัฐ-เอกชน-ประชาชน เดินหน้า 543 โครงการที่มีความพร้อม สร้างเสริมปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำเทียบเท่าเขื่อนกิ่วลมด้วยงบน้อยกว่า 37 เท่า เชื่อมั่นแนวทางช่วยต่อยอดสู่พื้นที่แล้งซ้ำซากตามแผนแม่บทฯสิ้นปีนี้ ได้อีกเกือบสองพันโครงการ

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวในการแถลงข่าวแบบ New Normal เปิดตัว “โครงการฝ่าวิกฤตด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้ก้าวไปตามแนวพระราชดำริ” เพื่อจ้างงานผู้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ปิดทองหลังพระฯ กำลังดำเนินงานโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากร่วมกับหน่วยงานราชการ เอกชนและชุมชนอย่างครบกระบวนการ ตั้งแต่คัดเลือกผู้ว่างงานเพราะโควิด-19 จัดการอบรมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เทคนิคการพัฒนาแหล่งน้ำและการเกษตร พร้อมกับเชื่อมโยงเอกชนเข้ามาทำด้านการตลาดสินค้า

Advertisement

“ครั้งนี้จ้างคนว่างงาน 612 คน ทำโครงการรวม 543 โครงการใน 9 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบของปิดทองหลังพระฯ ประกอบด้วยจังหวัดน่าน อุทัยธานี เพชรบุรี อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส”

Advertisement

โครงการนี้เป็นระยะที่สอง ต่างไปจากครั้งแรกคือขยายพื้นที่เป้าหมายเดิมทำใน 3 จังหวัดเพิ่มเป็น 9 จังหวัด มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าและขยายพื้นที่รับน้ำมากกว่าโครงการแรกเกือบ 6 เท่า

การดำเนินโครงการฯยังเน้นเรื่อง 4 ประสาน คือราชการ เอกชน ประชาชนและปิดทองหลังพระฯ “ราชการในท้องที่และชุมชนมีบทบาทเป็นอย่างมากในการเสนอโครงการ โดยมีรวมกันมากถึง 1,084 โครงการแต่เมื่อพิจารณาในเรื่องความพร้อมด้านกายภาพและบุคลากรแล้ว มีความเห็นร่วมกันว่ามีโครงการเหมาะสมที่จะทำทันทีจำนวน 543 โครงการ”

แผนการทำงานระยะที่ 2 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ จะทำให้เกิดพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 174,430 ไร่ เพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำได้ 98.2 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือเทียบเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง

ปัจจุบันการสร้างเขื่อนขนาดนี้ จะต้องใช้งบประมาณถึง 8,000 ล้านบาทแต่โครงการระยะสอง ใช้งบประมาณเพียง 216 ล้านบาท ต่ำกว่าการสร้างเขื่อนที่มีความจุเท่ากันถึง 37 เท่า งบประมาณที่ใช้เป็นการจ้างงานและฝึกอบรม 52.6 ล้านบาท ค่าวัสดุปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำ 125.5 ล้านบาท ปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรอีก 20 ล้านบาท

ผลจากการดำเนินงานโครงการคาดว่าจะสร้างแหล่งน้ำให้กับเกษตรกรรวม 39,855 ครัวเรือนเพิ่มขึ้นกว่าระยะแรกเกือบ 8 เท่า และจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการมีน้ำในการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดปีเพิ่มขึ้นปีละ 7,000 บาทต่อไร่ ดังนั้นประเมินได้ว่าพื้นที่รับน้ำทั้ง 174,430 ไร่ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 1,221 ล้านบาท

นายการัณย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นการสนับสนุนรัฐบาลในการขับเคลื่อนโครงการแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ผลเป็นที่น่าพอใจ คณะทำงานจึงได้ศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมทำโครงการระยะที่ 3 ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการของสถาบันฯ พิจารณาโครงการขยายผลที่ตั้งเป้าไปที่ 6 จังหวัดในลุ่มแม่น้ำมูล ที่ประสบปัญหาภัยแล้วซ้ำซาก คาดว่าจะมีน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้เกือบสองพันโครงการภายในปีนี้

นางสาวนูรีฮัน กาปิง อายุ 23 ปี พนักงานโครงการพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาเล่าถึงการเข้าร่วมโครงการฯ กับปิดทองหลังพระฯว่า “ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำงานแนวนี้มาก่อน  แต่ชอบที่จะได้ทำงานกับชุมชน  ได้เรียนรู้ หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 แนวพระราชดำริด้านการพัฒนาท้องถิ่น เรียนรู้การพูดอย่างไรเพื่อให้ชาวบ้านมาช่วยกันทำงาน เพราะเขาเห็นความสำคัญประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเขา โดยตรง ส่วนปิดทองฯก็ช่วยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ”

นางนงนุช ลาวัลย์ อายุ 46 ปี พนักงานโครงการ จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ทราบข่าวว่าปิดทองหลังพระฯ ทำโครงการ จึงศึกษาข้อมูลและสนใจสมัครมาเป็นพนักงานประสานงาน เนื่องจากมีประสบการณ์กับการทำงานกับชุมชนและมูลนิธิชัยพัฒนามาก่อน การทำงานกับชุมชนจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ใหม่คือได้มาเรียนรู้กระบวนการทำงานแบบปิดทองหลังพระฯ  ทั้งจากการอบรมและฝึกปฏิบัติการจริงในพื้นที่ อาทิ การสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันทำหน้าที่ประสานโครงการ 4 โครงการ ในอำเภอฆ้องชัยและยางตลาด

โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ปิดทองหลังพระ ฯ ได้ดำเนินการระยะแรกภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะการว่างงงานของปัญหาโควิด-19 ใน 3 จังหวัด มีการจ้างงาน 369 คน สามารถปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำจำนวน 107 โครงการ มีผู้รับประโยชน์จำนวน 5,320 คน พื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น 30,900 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 23.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม – สิงหาคม 2563 ส่วนโครงการระยะที่ 2 ที่ดำเนินการอยู่นี้มีชื่อว่า โครงการฝ่าวิกฤตด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ ดำเนินการใน 9 จังหวัด มีการจ้างงาน 612 คน จะปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำจำนวน 543 โครงการ มีผู้รับประโยชน์รวม 39,855 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์รวม 174,430 ไร่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image