พ่อเมืองอุบลฯ นำทีม “บวร” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้เข้าอบรม “โคก หนอง นา โมเดล” รุ่นที่ 7 กว่าร้อยชีวิต พร้อมชูศาสตร์พระราชา ช่วยฝ่าวิกฤตโควิด-19

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 15.30 น. ณ วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้รับการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 7 ณ วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมลงพื้นที่และสนับสนุนการตรวจเยี่ยมของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในการนี้ ได้รับความเมตตาจากพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ และพระนักพัฒนาของจังหวัดฯ ที่ได้อนุเคราะห์และสนับสนุนสถานที่ในการฝึกอบรมฯ ตลอดจนร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนและเสียสละเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอดมาตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด ราชการ

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้พบปะและกล่าวกับผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ว่า “โครงการโคก หนอง นา โมเดล จะช่วยให้ผู้ที่ตกงานเเละผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่กลับมาอยู่บ้าน ได้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งรัฐบาลได้ให้งบประมาณก้อนนี้มาดำเนินโครงการฯ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 และโครงการนี้ไม่ได้ดำเนินการกับผู้เข้ารับการอบรมเท่านั้น ทางหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบก็จะต้องขับเคลื่อนคู่ขนานกันไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด “โคก หนอง นา โมเดล” จึงเป็นโครงการที่จะช่วยในการ “แก้เเล้ง เก็บฝน” และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่ายในครัวเรือน บริหารจัดการและใช้พื้นที่ทั้งหมดให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของท่านเอง นอกจากนั้น โครงการนี้ ยังเป็นการสร้างแหล่งน้ำให้สามารถเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น ปลา กบ กุ้ง หอย เป็นต้น ในส่วนของจังหวัดฯ คาดหวังผลผลิตจากโครงการฯ เพื่อที่จะรวบรวมผลผลิต และพัฒนาแปรรูป ไปสู่แบรนด์ “โคก หนอง นา โมเดล จังหวัดอุบลราชธานี” ต่อไป สำหรับกิจกรรมโคก หนอง นา โมเดล นี้ จะต้องอาศัยทุกท่านเป็นกลไกสำคัญในการเป็นหน่วยผลิต ท่านจะได้ใช้พื้นที่ของท่านพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความร่วมมือ เช่น การเอามื้อสามัคคี มีแหล่งผลิตที่หลากหลาย เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน นอกจากนั้น โครงการฯ นี้ ยังเป็นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและภัยเเล้ง เป็นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต้นเอง เพื่อให้มีผลผลิตจากการเกษตรที่เพิ่มขึ้นเเละมีความหลากหลาย เป็นโอกาสของการสร้างสินค้าทางการเกษตรส่งออกสู่ตลาด สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ต่อจากนี้ จังหวัดฯ จะจัดทำฐานข้อมูล “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นรูปแบบบัตรประจำตัวผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเก็บข้อมูลการผลิต ข้อมูลพื้นที่ พิกัดที่ตั้งพื้นที่ เป็นต้น เป็นการบ้านที่จังหวัดจะต้องทำให้สำเร็จ และจะสร้างความต่อเนื่องของโครงการฯ ไม่ปล่อยให้ทุกท่านทำอย่างโดดเดี่ยว จังหวัดอุบลราชธานีจะมีศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” และกระจายอยู่ทั่วจังหวัด ขอฝากหัวใจของโคก หนอง นา คือ “แก้แล้ง เก็บฝน” และบูรณาการทั้งงาน งบ ระบบ คน ทุกอย่างของโคก หนอง นา จะต้องถูกทำเป็นข้อมูล เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือพี่น้องประชาชนทุกท่าน มีความสุขในการประกอบอาชีพ การทำมาหากิน เศรษฐกิจครัวเรือนมีความเข้มเเข็ง มีกำลังใจต่อสู้กับผลกระทบจาก COVID-19 ท้ายที่สุดนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านได้ตั้งใจเก็บเกี่ยวเอาความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมครั้งนี้ เพื่อนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

Advertisement

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ให้สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ดำเนินการ 48 รุ่นๆ ละ 5 วัน กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรม 4,790 คน ประกอบด้วยครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนละ 1 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 898 คน ระยะเวลาดำเนินการะหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564 จุดดำเนินการ 5  แห่ง ดังนี้ 1) ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จำนวน 16 รุ่น 2) วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 3) ศูนย์ฝึกอบรมวัดภูอานนท์ ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 4) ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนสารภีท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 5 รุ่น และ 5) ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จำนวน 5 รุ่น ซึ่งการฝึกอบรมรุ่นที่ 7-11 มีกำหนดดำเนินการพร้อมกันทั้ง 5 จุด ระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ 2564

สำหรับการฝึกอบรมตามโครงการฯ รุ่นที่ 7 ระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ 2564 ณ วัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฝึกอบรมฯ จากอำเภอน้ำขุ่น 98 คน และอำเภอน้ำยืน 11 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 109 คน โดยได้รับความร่วมมือจากทีมวิทยากรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ และทีม SAVEUBON ร่วมกับวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด

Advertisement

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image