กสศ.จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศพร้อมโชว์ผลงานความคิด นศ.ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

หลังจบการศึกษาระดับ ปวส. รุ่นแรก ป้อนเข้าสู่ตลาดสายอาชีพกว่า 1,106 คน การันตีคุณภาพการศึกษากว่า 67 % เกรดเฉลี่ย 3.00 นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกในการช่วยเหลือเด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้เรียน ย้ำเรื่องโอกาสเป็นเครื่องมือ ลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ ตัวช่วยเดินหน้าไปสู่การมีอาชีพมีอนาคตและพาครอบครัวหลุดพ้นความยากจนได้

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมปัจฉิมนิเทศ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้รับเกียรติโดยนางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวให้นโยบายการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา โดยครั้งนี้เป็นการจัดประชุมผ่านรูปแบบ Online และ onsite จำนวน 5 พื้นที่คือเวทีจังหวัดกรุงเทพมหานคร (เวทีกลาง) เวทีจังหวัดเชียงใหม่ เวทีจังหวัดสงขลา เวทีจังหวัดนครราชสีมา และเวทีจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่จะสำเร็จการศึกษากว่า 1,106 คน ครู อาจารย์ และผู้บริหารจากสถานศึกษาสายอาชีพ จำนวน 32 สถาบัน ว่าที่นายจ้าง สถานประกอบการ และผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ กสศ.

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้บริหาร ครู และอาจารย์สถานศึกษาสายอาชีพจาก 32 แห่งทั่วประเทศที่ทุ่มเทในการบ่มเพาะดูแล พัฒนาทักษะผ่านการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้นักศึกษาเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสาขากว่า 41 สาขาซึ่งเป็นสาขาที่จะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตาม 10 อุตสาหกรรม S Curve และ New S Curve สาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น ทำให้มีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่สำเร็จการศึกษาจำนวนทั้งหมด 1,106 คน แบ่งเป็นชาย 571 คน หญิง 531 คน แบ่งเป็นนักศึกษาทุนในภาคเหนือ 255 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 226 คน ภาคกลาง 281 คน ภาคตะวันออก 165 คน ภาคใต้ 179 คน

Advertisement

“ภาพรวมทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ได้สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนชั้น ม.3 ม.6 ปวช. หรือเทียบเท่า จำนวนทุนสะสม 3 รุ่นจำนวนประมาณ 7,265 คน เข้าศึกษาในสถานศึกษาสาย อาชีพทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 98 แห่ง กระจายใน 44 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคในลักษณะโครงการที่เป็น พันธมิตรกับหน่วยงานต้นสังกัดทุกสังกัดสำนักงานคณะรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ เอกชน วิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ร.ร.จิตรลดาวิชาชีพ” นายสุภกร กล่าว

นายสุภกร กล่าวว่า จากการทำงานของ กสศ. ได้ตั้งเป้าความสำเร็จไว้ 3 ก้าว วันนี้เป็นความสำเร็จก้าวที่หนึ่ง คือ “โอกาส” จากสองปีก่อนที่เด็กบางคนไม่เหลือความหวังและแทบไม่ได้เรียนต่อ ตอนนี้มีบัณฑิตจำนวน 1,106 คน นั่นคือก้าวแรกที่ได้รับโอกาสจาก กสศ.ให้เรียนสูงขึ้น แม้มีจำนวน 1,106 คนอาจถือว่าเยอะ แต่ยังมีเด็กที่เกิดในปีเดียวกันและมีฐานะยากลำบากประมาณ 1 แสนคน แต่กสศ.ให้โอกาสได้ 1,106 คน หรือ 1% เท่านั้น ก้าวที่สองคือการมีงานทำโดยตั้งใจว่า ปี พ.ศ. 2570 นักศึกษาทุนทุกคนจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งอย่าหายไป ซึ่ง กสศ.​ได้เตรียมเว็บไซต์ หนังสือรุ่นสมัยใหม่ที่อัปเดทได้ทุกวัน ใครไปทำอะไร มีกิจกรรมอะไรอยากเล่าสามารถเข้ามาเขียนในเว็บไซต์ได้ ทุกคนก็จะเห็นเพื่อนทั้งพันกว่าคนได้มาอัปเดตชีวิต ​

Advertisement

“ก้าวที่สาม คืออยากเห็นผลผลิตของเราเปลี่ยนชีวิตจากรุ่นเราที่เติบโตมาอย่างยากลำบาก เมื่อต่อไปมีครอบครัวก็อยากให้ครอบครัวสลัดหลุดพ้นจากความยากลำบาก ซึ่งแม้จะเริ่มจาก 1,106 คน ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าโอกาสทางการศึกษาทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น ซึ่งน้องๆ ที่จบการศึกษาในวันนี้เป็นก้าวแรกของความสำเร็จ และไม่ใช่เฉพาะความสำเร็จเฉพาะตัว ซึ่งจะนำไปสู่ก้าวที่สอง ก้าวที่สามต่อไป” นายสุภกร กล่าว

นายสุภกร กล่าวว่า  ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมีประมาณปีละ 2,500 ทุน แบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนที่ จบ ม.3 และเรียนต่อ ปวช. และ ปวช. เรียนต่อ ปวส. ​อีก 2 ปี  ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่จบการศึกษาในส่วนที่เรียนต่อ 2 ปี จึงมีผู้ที่จบการศึกษาประมาณ 1,106 คน โดยคนที่จบการศึกษามีผลการเรียนดีเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไปมากถึง 67%  ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์สิ่งที่กสศ.กำลังทำว่าประสบความสำเร็จ โดยถ้าครบ 5 ปีก็จะมีนักศึกษาที่ทะยอยจบการศึกษาปีละประมาณ 2,500 ปีต่อทุน โดยทุนนี้อาจจะเรียกว่าเป็นทุนที่ทำงาน 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือให้ทุนการศึกษากับนักเรียนที่ครอบคลุมค่าเรียน ค่าใช้จ่ายในการเรียน ค่าใช้จ่ายรายเดือน และส่วนที่ 2 คือ วิเคราะห์ตลาดแรงงานอาชีพว่าสาขาไหนที่มีโอกาสตกงานก็จะไม่ให้ทุนในสาขานั้น หรือสาขาอาชีพที่ตลาดต้องการแต่คุณภาพการเรียนการสอนยังไม่ถึง ก็ต้องชวนทางสถาบันการศึกษามาร่วมคิดว่าจะช่วยกันพัฒนาอย่างไร โดยแต่ละปีจะมีสถาบันการศึกษาเสนอแนวคิดมาเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดทำให้แต่ละปีจะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาได้ประมาณ 30 กว่าสถาบันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมในพื้นที่ 5 จังหวัด 5 เวทีครั้งนี้ ยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ร่วมแล้วกว่า 135 ผลงาน อาทิ ผลงานหุ่นยนต์เคลื่อนย้ายวัตถุ วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงิน จากการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับภาคกลาง ปี 2563 รถบรรทุกดั้มขนาดเล็กเอนกประสงค์ วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ทำภายใต้แนวคิดการลดต้นทุนทางการเกษตรและช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงรถบรรทุกในการใช้งานต่างๆ ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สงขลา ผู้ประกอบภาคเอกชน อาทิ บริษัทเงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอ๊ปโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น นำตำแหน่งงานว่าง และแนะแนวอาชีพที่เหมาะสมสมให้กับนักศึกษาทุนและให้กรอกใบสมัครงานตามที่สนใจ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image