กยท.เตรียมนำผลิตภัณฑ์แผ่นยางลดแรงกระแทก ร่วมโครงการ ‘ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามาฯ-ธนารักษ์’ รองรับสังคมผู้สูงอายุ

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 14 ล้านคน และอีก 10 ปี ข้างหน้า หรือปี 2574 คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดคือมี จำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนวางแผนพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น

เช่นเดียวกับหน่วยพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ก็มีการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ลดแรงกระแทกจากแผ่นยางธรรมชาติสำหรับปูในห้องพักอาศัยผู้สูงอายุเพื่อลดการบาดเจ็บ ที่รุนแรงหากเกิดการหกล้มได้

Advertisement

นางนพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า เนื่องจากทาง กยท.มีการทำ MOU ในการผลิตหุ่นยางสำหรับการเรียนการสอนหลายชิ้น ให้กับ รพ.รามาธิบดี ทำให้มีโอกาสได้คุยกันถึงแผนการนำแผ่นยางลดแรงกระแทกที่ กยท.ทำอยู่ ไปใช้ในโครงการ “ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามาฯ-ธนารักษ์” ที่ รพ.รามาธิบดีร่วมกับกรมธนารักษ์ก่อสร้างบ้านพักผู้สูงอายุ โดยทาง กยท.พร้อมที่จะผลิตเพื่อส่งมอบให้กับโครงการฯ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย นอกจากนี้ เรายังมีแผ่นยางปูพื้นห้องน้ำที่สามารถป้องกันการลื่นไถลช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดกับผู้สูงอายุได้

สำหรับคุณสมบัติ แผ่นยางลดแรงกระแทกหรือแผ่นยางปูพื้นในที่ร่ม ซึ่งผ่านคุณสมบัติในการรับรองการรับแรงกระแทก มีความยืดหยุ่นสูง นอกจากนี้ ยางธรรมชาติมีคุณสมบัติการยึดติด แข็งแรง ติดตั้งง่าย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งได้มีการติดตั้งที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกรุงหยัน จ.นครศรีธรรมราช

Advertisement

พร้อมกันนี้ กยท.ได้ถ่ายทอดงานวิจัย การผลิตบล็อกยางปูพื้นรูปตัวหนอน ให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.สตูล เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งบล็อกยางปูพื้น สามารถใช้สำหรับปูพื้นได้ทั้งในที่ร่มและกลางแจ้ง ใช้ปูพื้นสนามเด็กเล็กหรือทางเดิน เป็นต้น

ไม่เพียงแผ่นยางลดแรงกระแทกเท่านั้น ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ยังได้ร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ หลายโรงพยาบาล เช่น รพ.รามาธิบดี และ รพ.พระมงกุฎเกล้า ในการผลิตหุ่นจากยางธรรมชาติสำหรับใช้ในการเรียนการสอน และนอกจากนี้ทาง กยท.ยังผลิตหุ่น CPR กู้ชีพ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการยางแห่งประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.ปัตตานี) และสภาอุตสาหกรรม  และ สวทช. ทำหุ่น CPR ช่วยชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการมอบให้กับหน่วยงานงานต่างๆ ที่ขอมา เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์ฝึกต่างๆ หน่วยกู้ภัย และในปีนี้จะมอบอีกประมาณ 150 ตัว

ดร.นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ เราทำความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น รพ.รามาธิบดี ในการทำหุ่นฝึกฉีดยา หุ่นเย็บแผล และปลายปี หุ่นสำหรับเจาะเส้นเลือด / หุ่นเจาะช่องปอด ผิวหนัง กล้ามเนื้อ น่าจะแล้วเสร็จ

กยท.ยังร่วมวิจัยกับแผนกออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฎเกล้า ทำหุ่นจำลองฝึกตัดชิ้นเนื้องอกมะเร็ง ส่วนกล้ามเนื้อขา เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนแพทย์ประจำบ้าน โดยทำขาก่อนและใส่ก้อนเนื้อลงไป ซึ่งราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ อีกอันที่ทำสำเร็จ คือ หุ่นจำลอง เท้าผิดรูป ขึ้นรูปคล้ายต้นแบบ ให้แพทย์ประจำบ้านได้ฝึกและเข้าเฝือก เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image