กสอ. เผยแนวทางปี 64 พาเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤตดิสรับชั่นด้วย ‘สติ : STI’

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาถือเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั่วโลกและเกิดคลื่นปฏิวัติเอสเอ็มอี หรือ SMEs Disruption ในปี 2564 กระทรวงอุตสาหกรรมของไทย จึงมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย โดยยกระดับนโยบาย “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม” ให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา กสอ.ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการไปแล้ว 1,731 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายการทำงานของปี 2564 ผ่านแนวคิด “สติ : STI” ประกอบด้วย 3 ปัจจัยเร่งด่วน ได้แก่ ทักษะเร่งด่วน (Skill) เครื่องมือเร่งด่วน (Tools) และ อุตสาหกรรมเร่งด่วน (Industry)

1.ทักษะเร่งด่วน หรือ Skill หรือการเสริมทักษะเพื่อสร้างโอกาส แบ่งออกเป็น 3 ทักษะที่จำเป็น ประกอบด้วย วิชาตัวเบา (Lean) เป็นหลักสูตรเพื่อติดอาวุธด้านการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการเงิน ต่อมาคือทักษะการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการปรับใช้ในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ และทักษะความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรม โดย กสอ. จะขยายผลศูนย์ Mini Thai-IDC ไปยังภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ในระดับท้องถิ่นไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.เครื่องมือเร่งด่วน หรือ Tools สร้างช่องทางการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ประกอบไปด้วย แพลตฟอร์มออนไลน์ (DIProm มาร์เก็ตเพลส) รวบรวมผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมจาก กสอ. เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เงินทุนเพื่อการประกอบการ อาทิ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย สนับสนุนเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้งในกำกับของรัฐ และเอกชน รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาคเอกชน เพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับการดำเนินธุรกิจและก่อให้เกิดการจัดตั้งธุรกิจได้ในอนาคต

Advertisement

3.อุตสาหกรรมเร่งด่วน หรือ Industry ที่มุ่งเน้นคือเกษตรอุตสาหกรรม ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการสนับสนุนในระยะเวลาเร่งด่วน เพื่อให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการยกระดับศักยภาพในภาคการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป การพัฒนานักธุรกิจเกษตร และการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพและพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพรวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจสู่กระบวนการผลิตที่มีมูลค่าสูงต่อยอดขยายผลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการส่งเสริมวิสาหกิจให้มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ การส่งเสริมผู้ประกอบการในปี 2564 กสอ.จะปรับบทบาทมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก ภายในงบประมาณ 500 ล้านบาท โดยทำหน้าที่เป็นผู้ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวทั้งภาคอุตสาหกรรมและทำได้อย่างทันท่วงที ตั้งเป้าหมาย 3,356 กิจการทั่วประเทศ คาดว่าจะสามารถพัฒนาทักษะให้บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 13,375 คน ผลักดันวิสาหกิจชุมชน 177 กลุ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพเพิ่มขึ้น 982 ผลิตภัณฑ์ ทั้งหมดนี้คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image