GCNT จับมือ สอวช. จัดโปรแกรม Circular Design ชวนภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

พฤษภาคม 2564 : สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เชิญชวนภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนเศรษกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตั้งเป้า 100 องค์กรใน 10 เส้นทางธุรกิจ เข้าร่วมกิจกรรมการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ภายใต้โครงการการพัฒนานโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน  

นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับ สอวช. ดำเนินโครงการสร้างขีดความสามารถด้านการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) เพื่อสร้างความร่วมมือของภาคเอกชนในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้องค์ความรู้จาก CIRCO ด้วยการสนับสนุนของสถานทูตเนเธอร์แลนด์ จัดการอบรมให้กับผู้นำอบรม (Trainer) ออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) จำนวน 100 องค์กร ใน 10 เส้นทางธุรกิจ (Track) อาทิ อาหาร ก่อสร้าง พลาสติก ยานยนต์ ชุมชน ฯลฯ โดย ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามพันธกิจของสมาคมฯ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ตลอดกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยส่งเสริมการปรับวิธีคิด ปรับการออกแบบให้เป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ (new business model) ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หวังว่าผู้ประกอบการจะได้เห็นโอกาสสำหรับธุรกิจ ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ก่อมูลค่าทางเศรษฐกิจและตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมองเรื่องการขยายผลและต่อยอดไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือและการออกแบบของ CIRCO International Hub ที่เหมาะสมกับบริบทไทย รวมทั้งสร้างเครือข่ายและระบบนิเวศ (Eco-System) ด้านการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ตลอดจนถอดบทเรียนปัจจัยและช่องว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมกับประเทศไทยด้วย

Advertisement

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) โมเดลเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันเป็นวาระแห่งชาติ แต่การขับเคลื่อนโดยภาครัฐยังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการบูรณาการการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างครบวงจร จึงจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศและปัจจัยเอื้อสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ความร่วมมือ ระหว่าง สอวช. และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการพัฒนานโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ได้ผลลัพธ์ตอบ 2 ปัจจัยเอื้อ ได้แก่ การลงมือพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการจริง และเป็นการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือของเครือข่าย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศของเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ หลักสูตรการออกแบบหมุนเวียนของ CIRCO ถูกพัฒนามาจากกระบวนการ design thinking , business model design และ supply chain analysis ผนวกกับแนวคิด “Products that Last” ซึ่งถูกวิจัยและพัฒนา โดยมหาวิทยาลัย Technical University of Delft (TU Delft) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และถูกนำไปฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศอื่นๆ อีก 8 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ บราซิล ตุรกี ศรีลังกา อินโดนีเซีย โดยเป็นเครื่องมือขยายการดำเนินงานเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้และสร้างเครือข่าย Innovation hub จากการดำเนินหลักสูตรนี้ในประเทศต่างๆ ด้วย

Advertisement

ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Circular Design ดังกล่าว จะได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งวิธีการเปลี่ยนต้นทุนทางธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เคยสูญเสียไปให้เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆได้อีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน (value destruction) การหาคุณค่าด้านการหมุนเวียน (circular proposition) จนสามารถสร้างเส้นทาง (Roadmap) ที่สามารถนำไปดำเนินงานต่อในองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนและจุดประกายไอเดียใหม่ๆ กับองค์กรที่หลากหลายในชั้นเรียน และกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากนานาชาติที่กำลังเริ่มต้นเส้นทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยแนวคิด “Creating business through circular design”

“การเข้าร่วมโครงการ circular design จะตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่ต้องการหาเครื่องมือที่ช่วยลดปัญหาต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ และมองหานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สำคัญของภาคธุรกิจให้มีขีดความสามารถในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และธุรกิจของตน ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ธันยพร กล่าวทิ้งท้าย

โครงการ Circular design จะจัดอบรมทั้งหมด 10 รุ่น สำหรับ 10 เส้นทางธุรกิจ (Track) ภายในระยะเวลา 18 เดือน สำหรับกิจกรรมการอบรมรุ่นที่ 2 จะจัดขึ้นในเดือน กรกฎาคม 2564 นี้ องค์กรธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย www.globalcompact-th.com หรือติดต่อคุณกมลนาถ องค์วรรณดี (ผู้จัดการโครงการ) โทรศัพท์ 081-919-9740

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image