รัฐบาลช่วยประชาชน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ตามแนวพระราชดำริ ผ่าน “โคก หนอง นา กรมการพัฒนาชุมชน” ผู้ว่าฯ เผย “แก้แล้ง แก้ท่วม” และมีน้ำใช้ตลอดปี

วันที่ 16 มิถุนายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมาย นางสาวปาณิสรา ใจเย็น พัฒนาการอำเภอโพธิ์ไทร พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นายช่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนและตรวจรับงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในพื้นที่ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี

โดยการลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนโครงการฯ ในครั้งนี้ คณะได้ติดตามการพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ครัวเรือนตัวอย่างพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (Househole Lab Model for quality oflife : HLM) ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลงนายธนะชัย​ ชื่นจิตร​ บ.โคกนาลุมพุ​ก​ ต.โพธิ์ไทร​ ขนาดพื้นที่​ 3 ไร่​ แบบ​ 1​:3 ดินร่วนปนทราย ดำเนินการปรับพัฒนาพื้นที่แล้ว และนางนรินทร์​ จันทาทอง บ.แดง ต.โพธิ์ไทร​ ขนาดพื้นที่​ 3 ไร่​ แบบ​ 1​:3 ดินร่วนปนทราย อยู่ระหว่างดำเนินการปรับและพัฒนาพื้นที่

Advertisement

โอกาสนี้ คณะตรวจติดตาม ได้พบปะเจ้าของแปลงและให้คำแนะนำในการวางแผนเพื่อจัดกิจกรรมขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ และจัดกิจกรรมเครือข่ายการเรียนรู้แก่ชุมชนผ่านการเอามื้อสามัคคีในแปลงที่ดำเนินการขุดปรับพื้นที่แล้ว พร้อมได้กำชับเจ้าของแปลงซึ่งอยู่ในระหว่างการขุดปรับพื้นที่ ให้ประสานและสนับสนุนการดำเนินงานกับนายช่างผู้ควบคุมงาน ให้เป็นไปตามแนวทางกรมการพัฒนาชุมชนกำหนด เช่น ระยะร่นจากเขตแนวดิน จุดทิ้งดิน การขุดปรับพื้นที่เฉพาะในเขตบริเวณซึ่งเข้าร่วมโครงเท่านั้น

ด้านเจ้าของแปลงได้เปิดเผยว่า “พื้นที่ทำกินแห่งนี้ถือเป็นชีวิตจิตใจในการเลี้ยงชีพของตน ซึ่งแต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ใช้ประโยชน์คือทำนาปลูกข้าว ซึ่งในการทำเกษตรนั้น ต้องพึ่งน้ำฝนตามฤดูกาล บางปีฝนทิ้งช่วงไม่มีน้ำทำการเกษตร พอทราบข่าวการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ และผู้นำหมู่บ้าน จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งในอนาคตหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมเยือนและเข้าใจประชาชนในพื้นที่ ตลอดจน รัฐบาลและกรมการพัฒนาชุมชน ที่นำงบประมาณมาช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องประชาชน ในยามที่กำลังประสบปัญหาจากภัยโควิด-19 ในปัจจุบัน”

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ในส่วนของอำเภอโพธิ์ไทร มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แยกเป็นงบพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ 20 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ 5 รวม 25 แปลง งบเงินกู้รัฐบาล แปลง HLM พื้นที่ 1 ไร่ 8 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 38 แปลง รวม 46 แปลง เเละ CLM พื้นที่ 15 ไร่ 3 แปลง และมีนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 36 คน โดยได้รับงบประมาณโครงการฯ กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาพื้นที่ รวม 4,463,400 บาท และมีความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำสัญญา PO แล้ว 3,689,600 บาท คิดเป็นร้อยละ 82.66 (ข้อมูลวันที่ 16 มิถุนายน 2564)

Advertisement

โอกาสนี้ พัฒนาการอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ของนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กับคณะที่ร่วมติดตามว่า “โครงการนี้ช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากของคนในชุมชนให้ดีขึ้น และทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ นอกจากนั้น โครงการนี้ยังทำให้เรามีบ่อน้ำเป็นของตนเอง สามารถใช้ในแปลงเกษตรในพื้นที่ของตน สำหรับนาข้าว พืชผักสวนครัว ปศุสัตว์ ขอเน้นย้ำว่าหัวใจของ โคก หนอง นั้นคือ “แก้แล้ง แก้ท่วม” โดยแก้เเล้ง นั้น หมายถึง โคก หนอง นา จะทำให้มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรตลอดปี ส่วนการ เก็บฝน หมายถึงในฤดูฝน พื้นที่โคกหนองนาจะช่วยเก็บฝนให้เรามีน้ำใช้ และชะลอน้ำหลาก ซึ่งเป็นต้นเหตุของน้ำท่วม และยังเป็นพื้นที่ที่จะสร้างแหล่งอาชีพให้ลูกหลานในอนาคต เป็นการพึ่งตนเองตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย”

นอกจากนั้น พัฒนาการอำเภอโพธิ์ไทร ยังได้พบปะกับ เจ้าของแปลงครัวเรือนพัฒนา นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และคณะทำงานที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการฯ ตามนโยบายของรัฐบาล และแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชนกำหนด พร้อมชื่นชมแปลงที่ดำเนินการได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยว่า “ถือว่าทุกท่านโชคดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากโครงการฯ ในครั้งนี้ ซึ่งเกิดจากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 สืบสาน รักษา และต่อยอด สู่รัชกาลที่ 10 การยึดหลักกสิกรรมธรรมชาติในการพัฒนาพื้นที่ หากเจ้าของแปลงหรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) มีเหตุขัดข้องหรือข้อสงสัย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยทันที เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน อันจะทำให้โครงการฯ สามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนโดยเร็ว มีแปลงตัวอย่างที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบแก่คนในพื้นที่ สามารถการพึ่งตนเองให้รู้จักสร้างทางรอดในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อไป” นางสาวปาณิสรา กล่าวปิดท้าย

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโพธิ์ไทร ภาพข่าว/รายงาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image