กรมการพัฒนาชุมชน จะช่วยทำให้พี่น้องประชาชน โดยการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”

การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” กรมการพัฒนาชุมชน เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ของกรมการพัฒนาชุมชนที่มุ่งหวังว่า จะช่วยทำให้พี่น้องประชาชน มีเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2565 ซึ่งงานพัฒนาชุมชน ถือได้ว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของประเทศชาติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” จะเป็นหนทางหนึ่ง ที่จะทำให้กรมการพัฒนาชุมชน เดินไปถึงจุดมุ่งหมายที่ได้วางไว้ นำไปสู่สังคมอุดมคติ ร่วมกันได้อย่างประสบผลสำเร็จ

ในการเริ่มต้นทำการเกษตรตามหลัก “โคก หนอง นา” สิ่งแรกที่เกษตรกรจะต้องปรับ คือแนวคิดจากที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน และไม่พึ่งพาสารเคมี จะทำให้เรามีข้าวปลาอาหารพอกินตลอดปี โดยใช้อัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 เป็นเกณฑ์ปรับใช้เบื้องต้น ตัวอย่างเช่น พื้นที่ส่วนแรก 30% ใช้สำหรับขุดสระน้ำ เพื่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำที่กินหรือใช้ประโยชน์อื่น ๆ พื้นที่ส่วนที่สอง 30% สำหรับทำนา พื้นที่ส่วนที่สาม 30 % ปลูกไม้ผล ไม้ต้น หรือไม้ที่ใช้สอยในครัวเรือน พื้นที่อีก 10% สำหรับปลูกที่อยู่อาศัย

พื้นที่ทำนา 30 % ที่ใช้ในการปลูกข้าว ในแนวทางการเพาะปลูก ตามหลักทฤษฎีใหม่ พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน หลังเก็บเกี่ยวการผลิตควรพักดินเพื่อให้เกิดการสะสมแร่ธาตุ ด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือปลูกพืชหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันไป

การปรับปรุงพื้นที่ ควรยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม การปลูกข้าวอินทรีย์สำหรับเลี้ยงครอบครัว ควรยกคันนาให้สูงและกว้าง เนื่องจากข้าวทุกพันธุ์สามารถปลูกในนาน้ำลึกได้ ขอเพียงรู้จักพันธุ์ข้าวให้จริง ข้าวที่ปลูกในดินที่บ่มไว้อย่างดีจะมีรากยาวพอที่จะหาอาหารเลี้ยงตัวและทะลึ่งต้นขึ้นสูงหนีน้ำได้

Advertisement

นอกจากได้ข้าวเรายังได้ผลผลิตอื่นจากนาข้าวก็คือ ปู ปลา กุ้ง กบ เขียด ทำเป็นอาหารที่หลากหลาย ส่วนบนคันนาก็ปลูกพืช ผัก กล้วย อ้อย พริก เป็นอาหารและสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image