“บ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาล” เฝ้าระวังระดับน้ำและคุณภาพน้ำใต้ดิน

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่กักเก็บอยู่ใต้ดิน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเหมือนแหล่งน้ำผิวดินทั่วไป ดังนั้น หากน้ำบาดาลเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางด้านคุณภาพและปริมาณอย่างต่อเนื่องและใช้เวลานาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ไม่สามารถอธิบายได้โดยใช้ข้อมูลการสำรวจหรือตรวจวัดเพียงไม่กี่ครั้ง จำเป็นต้องตรวจวัดตามรอบหรือระยะเวลาที่สัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศ ปริมาณการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ และสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละพื้นที่ ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงมีการเจาะบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาล เพื่อเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของน้ำบาดาล

การนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และด้านธุรกิจอุตสาหกรรม นอกเหนือจากการเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อนำมาใช้เป็นแหล่งน้ำดิบแล้ว บ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาลก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจาก “บ่อสังเกตการณ์” เป็นบ่อน้ำบาดาลที่เจาะและพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะ สำหรับชั้นน้ำบาดาลที่มีความจำเป็นต้องการศึกษาตามลักษณะอุทกธรณีวิทยา โดยระดับน้ำบาดาลที่ตรวจวัดได้จะมีความสำคัญต่อการศึกษาศักยภาพของชั้นน้ำบาดาล เช่น การสูบทดสอบเฉพาะชั้นน้ำบาดาลเพื่อให้ได้ข้อมูลปริมาณน้ำที่จะสามารถสูบขึ้นมาใช้ได้ และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการเลือกเครื่องสูบน้ำให้ถูกต้องและเหมาะสม เป็นฐานข้อมูลสนับสนุนการจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับประชาชน เช่น โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำของบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาล เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาน้ำบาดาลและคุณภาพของน้ำบาดาลเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณานำน้ำบาดาลไปใช้ประโยชน์เพื่ออุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม เนื่องจากการใช้น้ำบาดาลในแต่ละประเภทจะมีมาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาลที่แตกต่างกันออกไป

Advertisement

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลด้านคุณภาพและปริมาณน้ำบาดาลจากบ่อสังเกตการณ์ เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และกำหนดทิศทางการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดมาตรการและแผนงานด้านการพัฒนาน้ำบาดาลอย่างอนุรักษ์ เพื่อควบคุมและป้องกันแหล่งน้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่ และบ่อสังเกตการณ์ยังสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำดิบสำรองเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคให้แก่ภาคประชาชน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง และอุทกภัยได้อีกด้วย

ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาล จำนวน 1,165 สถานี 1,944 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 27 แอ่งน้ำบาดาลทั่วประเทศไทย โดยมีการตรวจวัดระดับน้ำ 3 รูปแบบตามความจำเป็น ของพื้นที่ คือ 1) ตรวจวัดและส่งข้อมูลแบบอัตโนมัติ จำนวน 93 บ่อ 2) ตรวจวัดด้วยเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติ จำนวน 332 บ่อ และ 3) ตรวจวัดด้วยเครื่องวัดระดับน้ำ จำนวน 1,519 บ่อ ทั้งนี้ ในปี 2564 พบว่า คุณภาพน้ำบาดาลในประเทศไทยส่วนใหญ่มีคุณภาพดี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่ใช้บริโภคได้ บางพื้นที่  มีปริมาณธาตุเหล็ก แมงกานีส ฟลูออไรด์ในปริมาณสูง เนื่องจากสภาพทางธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยาตามธรรมชาติ ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการสูบใช้น้ำบาดาลค่อนข้างสูง อาจเกิดการแทรกดันของ น้ำบาดาลคุณภาพกร่อยเค็มที่อยู่ด้านล่างแพร่กระจายเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาลจืดที่อยู่ด้านบน ประชาชนไม่สามารถ ใช้น้ำเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับระบบประปาหมู่บ้านได้ ทำให้ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลก่อนนำไปอุปโภคบริโภค ส่วนปริมาณน้ำบาดาลที่เป็นภาพรวมของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก แต่เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้ประชาชนหันมาใช้น้ำบาดาลเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางบริเวณจังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก สุพรรณบุรี พื้นที่เมืองใหญ่ที่ชุมชนแน่นหนาและเป็นนิคมอุตสาหกรรมทำให้ระดับน้ำบาดาลมีแนวโน้มลดลง ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image