พช.ฉะเชิงเทรา สนับสนุนกลุ่มทอผ้าบ้านเนินน้อย สืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาคุณภาพชีวิต

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศาลากลางหมู่บ้านเนินน้อย หมู่ที่ 20 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา นายวรนัฐ ติรประเสริฐสิน พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยนางสรัลนุช  โพธิ์ชัยโย ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่สนับสนุนการฝึกอบรมโครงการพัฒนาอาชีพทอผ้ามัดหมี่อีสานบูรพา บ้านเนินน้อย โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน  15 คน ดำเนินการระหว่างวันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2564  และนายเบญจวัฒน์ ในวิกุล พัฒนาการอำเภอท่าตะเกียบ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่าตะเกียบ ให้การต้อนรับ

นายวรนัฐ ติรประเสริฐสิน กล่าวว่า โครงการพัฒนาอาชีพทอผ้ามัดหมี่อีสานบูรพา บ้านเนินน้อย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาด้านการทอผ้า ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และเป็นอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าในพื้นที่  ซึ่งประชาชนชาวบ้านเนินน้อย ส่วนใหญ่อพยพมาจากทางภาคอีสาน จึงนำวิถีความเป็นอยู่ประเพณีวัฒนธรรมพื้นถิ่นมาจากภูมิลำเนาเดิม มาใช้ในชุมชนจึงทำให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี  และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความประสงค์ส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มทอผ้าในจังหวัดฉะเชิงเทรา  จึงได้มอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการจัดทำผ้าลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา  ดังนั้น สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสถานศึกษา หน่วยงานภาคีเครือข่าย ออกแบบและได้ความหมายของผ้าลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ประกอบด้วย  “ผ้าสีด่อน” หมายถึง  เป็นสีของกระเบื้องหลังคา พระอุโบสถวัดโสธรวรารามมีความพิเศษที่ขนาดกระเบื้องจะใหญ่น้อยไม่เท่ากันตามระดับความสูงแล้ว สีของกระเบื้อง เป็น“สีด่อน” ตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นสีหลักของกระเบื้องหลังคาพระอุโบสถ สีด่อนเป็นภาษาอีสาน หมายถึงสีของ “ควายเผือก” เป็นสีครีมขาว ซึ่งเมื่อกระทบกับแสงแดดสะท้อนน้ำ สีหลังคาจะสะท้อนออกมาเป็นสีฟ้าหม่นที่มีความสวยงาม จึงเป็นที่มาของ >สีผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา< และ > ลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัด< คือ ลายมีรูปร่างด้านบนเป็นสามเหลี่ยม สองชั้น ด้านข้างสามเหลี่ยม เป็นเส้นแนวนอนปลายเส้นเป็นเส้นทแยงมุม ดูคล้ายหลังคาพระอุโบสถ ส่วนด้านล่างเป็นแบบเดียวกัน มีจำนวน 6 ลาย เมื่อจังหวัดฉะเชิงเทรามีผ้าลายประจำจังหวัดแล้ว  ข้าราชการในจังหวัดฉะเชิงเทรา จะต้องสวมใส่เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนในจังหวัด  ซึ่งเรามีกลุ่มทอผ้าที่อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ กระจายอยู่หลายหมู่บ้าน หากข้าราชการและประชาชน จำนวน 14,000 คน ซื้อคนละผืนๆ ละ  500 บาท เป็นเงินจำนวน 7,000,000 บาท ข้าราชการมีการย้ายมาใหม่ ต้องซื้อผ้าตัดเพิ่มอีก ทำให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในจังหวัดหลายล้านบาทต่อปี

Advertisement

เพื่อเป็นการเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด จึงได้ดำเนินการฝึกอบรมโครงการพัฒนาอาชีพทอผ้ามัดหมี่อีสานบูรพา บ้านเนินน้อย แก่กลุ่มอาชีพสตรีในหมู่บ้านมีอาชีพเสริม สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครอบครัว และเป็นอาชีพทางเลือกที่ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่  ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และปราชญ์ชาวบ้าน มาอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาอาชีพต่อไป

ภาพ/ข่าว กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

Advertisement

เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ภายในปี 2565  Change for good

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image