TIJ เปิดตัว “เครื่องมือขจัดความรุนแรงต่อเด็กฯ” ฉบับไทย เสวนาเข้ม! หวังปรับระบบ-การทำงาน ยุติความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบ

“ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก” เป็นปัญหาที่มีมาช้านาน มักเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นมากในประเทศไทย อีกทั้งยังพบว่าตัวเลขของเหยื่อผู้กระทำความผิดอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบันปัญหานี้ได้ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 โดยหนึ่งในเป้าหมายฯ ที่กำหนดไว้ คือ ยุติการข่มเหง การใช้หาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

ใช้พร้อมกับ “ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก ในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice)” ตราสารระหว่างประเทศที่ปูทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม นำไปปฏิบัติตามบริบทของประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ตกอยู่ในสถานการณ์อันเปราะบางต่างๆ

ล่าสุดยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ถูกแปลไว้ในหนังสือยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับภาษาไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดทำร่วมกับสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สามารถจัดการและรับมือกับการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งในงานเปิดตัวหนังสือฯ ได้ก็จัดเสวนาแบบคู่ขนานผ่านระบบ ZOOM ในหัวข้อ “เครื่องมือขจัดความรุนแรงต่อเด็ก : ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติฯ” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานในไทยนำไปปรับใช้ และนำไปสู่การปรับระบบและกระบวนการทำงานที่ดียิ่งขึ้น สามารถคุ้มครองและป้องกันเด็กจากความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ได้ในอนาคต

Advertisement

วิทยากรที่ร่วมวงเสวนาได้ให้คำตอบอย่างเข้มข้น โดย นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษา TIJ และอดีตรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ได้เริ่มพูดคุยถึงประเด็นสำคัญของยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ และมองว่า ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้ เป็น “Standard and Norms” รูปแบบหนึ่ง เป็นมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่แต่ละประเทศสามารถที่จะนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่ได้มีลักษณะเป็นพันธกรณีในเชิงกฎหมาย ซึ่งจะคล้ายกับกรณีที่ไทยเคยมีส่วนผลักดันกระบวนการที่นำไปสู่การนำเสนอข้อเสนอใหม่ของสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง หรือที่เราเรียกทุกวันนี้ว่า “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ที่ปัจจุบันกลายเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่ยอมรับกันในระดับสากล ดังนั้น หากคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมจะนำ UN Model Strategies ไปปรับใช้ จึง “อยากเห็นการมีส่วนร่วมกับสถาบันศึกษาและชุมชน” โดยเอากฎหมายเป็นตัวตั้ง และคำนึงถึงด้านสิทธิด้วย

จากนั้นบทเสวนาได้ต่อด้วย นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้เผยถึงวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ฯ นี้ ว่า มุ่งเน้นไม่เพียงเฉพาะกับเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่รวมไปถึงการที่เด็กเข้าไปอยู่ในกระบวนยุติธรรมแล้วจะต้องไม่ถูกกระทำความรุนแรงจากกระบวนการยุติธรรมซ้ำเติมเข้าไปอีก ยุทธศาสตร์ฉบับนี้มี 47 ข้อ ไม่ว่าจะอ่านข้อบทไหน หรือทำหน้าที่อยู่ในขั้นตอนไหนของกระบวนการยุติธรรม ก็ตามต้อง “คำนึงประโยชน์สูงสุด” และ “เอาเด็กเป็นตัวตั้ง” และมุ่งเน้นไปที่การเบี่ยงเบนคดี ใช้ทางเลือกแทนการคุมขัง ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รวมทั้งต้องมีเครื่องมือที่โปร่งใสให้สามารถร้องเรียนได้

Advertisement

 

“หลายครั้งที่วิธีการของกระบวนการยุติธรรม ส่งผลกระทบทางลบแก่ผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เฉพาะผู้ต้องหา หรือจำเลย ยังส่งผลกระทบต่อผู้เสียหาย หรือพยานด้วย กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก จะยิ่งเป็นการเพิ่มบาดแผลให้กับเด็ก จึงเป็นจุดสำคัญว่าทำไมถึงต้องมียุทธศาสตร์นี้ ที่ต้องลงลึกเฉพาะด้านกระบวนการยุติธรรม ให้ความสำคัญกับการวิจัยและการเก็บข้อมูลตั้งแต่การจับกุมจนถึงการควบคุมตัว พูดถึงการคุ้มครองเด็กแบบบูรณาการเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น เด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะเหยื่อหรือผู้กระทำผิด ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยวิธีการที่ละเอียดอ่อน และเคารพศักดิ์ศรีของเด็ก ซึ่งเด็กที่เรานิยามคือ บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนความรุนแรง คือความรุนแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจทุกรูปแบบ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความตระหนักต่อสาธารณชนด้วยว่าไม่ให้แสวงหาประโยชน์จากเด็ก”

แม้ว่าวันนี้ไทยมีกฎหมายเพียงพอที่จะคุ้มครองเด็ก ห้ามการกระทำความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบในทุกสภาพบริบท แต่โครงสร้างการทำงานยังกระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ ซึ่งด้าน นางวรภัทร แสงแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลปทุมธานี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานว่า “การช่วยเหลือเด็ก การทำให้การคุ้มครองมีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องทำงานแบบบูรณาการสหวิชาชีพ ยิ่งเด็กเป็นผู้กระทำความรุนแรง การแพทย์ยิ่งต้องให้ความสำคัญต่อคัดกรอง การบาดเจ็บที่ผิดปกติ สภาพพฤติกรรมที่ผิดปกติ เพื่อตอบได้ว่าเด็กคนนี้เกิดอะไรขึ้นในความเป็นจริง เมื่อทราบตรงนี้ก็จะช่วยนำไปสู่การแจ้งการรายงานเพื่อให้เกิดระบบการคุ้มครอง ป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลาม หรือเกิดซ้ำซ้อน เหล่านี้จะเป็นหลักการทำงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ฯ”

เช่นเดียวกับ ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ได้ให้ข้อเสนอแนะโดยสรุปว่า ระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ต้องปฏิรูประบบงานพื้นฐาน และมีหน่วยงานอื่นเข้ามาเสริม “เด็กเสี่ยงเป็นเหยื่อและเป็นโจร ต้องมีกระบวนการเฉพาะปัญหาให้ชัดเจน ทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการแก้ปัญหาเหยื่ออย่างเป็นระบบ สุดท้ายคือเรื่องของการดูแลเด็กในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาใหญ่คือเรื่องการจัดการเด็กอย่างไม่เหมาะสม เด็กทำผิดหนักลงโทษเบา เด็กทำผิดเบามีมาตรการหนัก ให้ลดการปฏิบัติที่ไม่ได้สัดส่วน ที่สำคัญ คือ เด็กต้องไม่เป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม พึ่งพาเครื่องมือต่างๆ ทั้งระบบเข้ามาช่วย อย่างเครื่องมือของยุทธศาสตร์ของฉบับนี้ เชื่อว่าไทยจะเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ”

งานเสวนาครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้เกิดการทบทวนกลไกสำคัญในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในไทย ตั้งแต่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตำรวจ อัยการ สหวิชาชีพ โรงพยาบาล อสม. ผู้นำชุมชน เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจเกิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเด็กที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขึ้นมาใหม่ ที่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบสหวิชาชีพโดยยึดผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ

จนในท้ายที่สุดถูกนำไปใช้เป็นมาตรฐานภายในประเทศ เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเด็ก ที่ยอมรับกันในระดับสากลต่อไป

อ่านยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับเต็มได้ที่ https://knowledge.tijthailand.org/en/publication/detail/un-model-strategies-on-vac#book/

หากท่านมีคำแนะนำและความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์ต้นแบบว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กฯ” สามารถแบ่งปันกับเราได้ที่  [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image