กรมส่งเสริมการเกษตร นำเสนอผลงานความสำเร็จ Smart Farmer ต้นแบบเมืองระยอง สุทธิ ที่หมาย เจ้าของรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 64 สาขาอาชีพทำไร่ ขับเคลื่อนอาชีพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าสับปะรดทองระยองด้วยการแปรรูป สร้างรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 1.9 ล้านบาท
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า นายสุทธิ ที่หมาย เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 และได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจนได้รับการยกระดับเป็น Smart Farmer ที่ประสบความสำเร็จในการปลูกสับปะรดพันธุ์ทองระยอง ภายใต้มาตรฐาน GAP โดยใช้ความรู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง และสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านฉาง ผสมผสานกับประสบการณ์ของตนเอง เกิดเป็นหลักคิดและวิธีพัฒนาที่เน้นการขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการต่อยอดด้านการตลาด จนประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ได้รับเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ารับรางวัล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 สาขาอาชีพทำไร่
“Smart Farmer ผู้นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จภายใต้การส่งเสริมภาคเกษตรของไทยให้เข้าสู่การเป็น Smart Agriculture ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการช่วยเหลือดูแลและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว
นายสุทธิ ถือเป็นเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จที่สามารถเป็นต้นแบบแห่งการพัฒนาด้านการเกษตร ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้มีการขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นที่สนใจ ให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้แนวทาง การบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ ในการก้าวสู่ความสำเร็จในอาชีพเช่นกัน
นายสุทธิ ที่หมาย อยู่บ้านเลขที่ 82 ม.2 ต.สำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมครอบครัวปลูกอ้อยและมันสำปะหลังเป็นหลัก ต่อมาพ.ศ. 2537 ได้มีโรงงานสับปะรดมาตั้งในพื้นที่อำเภอนิคมพัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง จึงได้เริ่มต้นปลูกสับปะรด เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกและดูแลง่าย สามารถจำหน่ายผลผลิตได้หลายทางทั้งผลสด เข้าโรงงาน รวมถึงนำมาแปรรูป มีตลาดรองรับที่แน่นอน ซึ่งปัจจุบันปลูกสับปะรดพันธุ์ทองระยองเป็นหลัก โดยเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ด้วยประสบการณ์การปลูกสับปะรด 26 ปี ผสานกับองค์ความรู้ที่ได้รับจาก กรมส่งเสริมการเกษตรทำให้ได้แนวทางการบริหารจัดการที่นำมาสู่ความสำเร็จในการปลูกสับปะรดพันธุ์ทองระยอง ภายใต้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น ปรับสภาพพื้นที่และโครงสร้างดินโดยปั่นตอสับปะรด และเศษที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวแล้วไถกลบ ขณะเดียวกันยกร่องปลูกตามแนวทางระดับ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายดิน
“จากที่ได้นำความรู้ทางวิชาการที่ได้รับการแนะนำจากเกษตรอำเภอ และเกษตรตำบลมาใช้จึงทำให้ประสบความสำเร็จ เช่น ขั้นตอนการคัดหน่อพันธุ์ ที่ขนาดหน่อต้องเท่ากัน เป็นหน่อสดหักจากไร่ไม่เกิน 15 วัน และการบังคับผลสับปะรดให้ออกพร้อมกันทั้งแปลงจะให้น้ำก่อนการบังคับ 1 วัน ตลอดจนเทคนิคการคลุมผลด้วยฟางหรือตาข่ายพรางแสง เพื่อป้องกันการเผาไหม้จากแสงแดด พร้อมกันนี้ยังให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ร่วมกับปุ๋ยน้ำหมักจากเปลือกสับปะรดที่คิดค้นเอง”
นอกจากนี้ นายสุทธิ มีการประยุกต์ใช้เครื่องจักรอย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และการใช้งาน เช่น การปรับโครงสร้างดินโดยไถระเบิดดินดานและปรับพื้นที่ให้มีความเหมาะสมในการปลูกสับปะรด รวมถึงการนำถังดับเพลิงเก่ามาประยุกต์ใช้ในการให้น้ำสับปะรดที่มีประสิทธิภาพมาก ขณะเดียวกันมีการใช้รถไถปั่นต้นตอและใบสับปะรดที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว แล้วไถกลบเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และมีการออกแบบดัดแปลงรถไถ ขนาดเล็กกำจัดวัชพืชในแปลงสับปะรด
การเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการนำผลสดสับปะรดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย ประกอบด้วย สับปะรดกวน และน้ำสับปะรดบรรจุกระป๋อง ส่งจำหน่ายให้กับร้านค้าในพื้นที่จังหวัดระยอง และการจำหน่ายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี เช่น น้ำสับปะรด มียอดการจำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 3,000 กระป๋อง
“จุดเริ่มต้นของการแปรูปเพราะในช่วงแรกนั้นมีผลผลิตบางส่วนที่มีคุณภาพไม่ได้ตามเกณฑ์ของโรงงาน หรือที่เรียกว่า ตกเกรด เช่น มีขนาดลูกที่ใหญ่เกินไป หรือเล็กไป จึงเห็นว่า แทนที่ปล่อยทิ้งควรที่จะนำมาแปรรูป ซึ่งได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านฉางในด้านองค์ความรู้และวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐาน จึงนำมาผสานกับวิธีการผลิตแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาทำให้ได้วิธีการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น สับปะรดกวนที่ใช้สูตรแบบโบราณเน้นการกวนด้วยเตาฟืนและมีการปรุงรสให้กลมกล่อมแบบโบราณ หรือการทำน้ำสับปะรดกระป๋องที่ได้คิดค้นวิธีการที่เรียกว่า น๊อคเชื้อ ทำให้ไม่ต้องใส่สารกันบูด และสามารถเก็บรักษาได้นานหลายเดือน จากการผลิตที่มีเอกลักษณะเฉพาะจึงทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี มีการสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง” นายสุทธิ กล่าว
สำหรับในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด – 19 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ นายสุทธิ กล่าวว่า ได้รับผลกระทบในเรื่องของการขนส่งสินค้า ด้วยบริษัทที่รับส่งของได้หยุดให้บริการ จึงมีการแนวทางด้วยการทำตลาด ในพื้นที่ โดยเน้นการกระจายสินค้าไปยังอำเภอต่างๆของจังหวัดระยองให้มากขึ้นทั้งการเพิ่มจุดจำหน่ายและการจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ของจังหวัดระยอง
“ จากการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เฉลี่ยไร่ละ 7 ตัน แต่ละปีจะมีรายได้ประมาณ 1,953,375 บาทจากการจำหน่ายผลผลิต ซึ่งร้อยละ 14 จำหน่ายเป็นผลสด อีกร้อยละ 80 ส่งเข้าโรงงาน ที่เหลืออีกร้อยละ 6 จากผลิตภัณฑ์แปรรูป” นายสุทธิกล่าวในที่สุด