Smart Farmer ต้นแบบจังหวัดมหาสารคาม ยึดหลัก “ตลาดนำการผลิต” เสริมแกร่งอาชีพเกษตร

โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ของกรมส่งเสริมการเกษตร ปรับเปลี่ยนวิธีคิด พัฒนาชีวิต “คุณกรุง ดวงเงิน” เกษตรกร Smart Farmer ต้นแบบจังหวัดมหาสารคาม จากหนุ่มโรงงานประจำ ผันชีวิตสู่ผู้ประกอบการเกษตร เจ้าของไร่รวมพลัง แหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์รายใหญ่ ยึดหลัก “ตลาดนำการผลิต” มุ่งเป้าสินค้าคุณภาพได้มาตรฐาน เจาะตลาดคนรักษ์สุขภาพในท้องถิ่น ทำเงินเดือนละหลายหมื่น 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความพร้อมเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer และพัฒนาต่อยอดเพื่อยกระดับให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรต้นแบบที่มีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การบริหารจัดการกิจการ และการตลาดสินค้าเกษตร รวมถึงเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ถือเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ในการขับเคลื่อนงานส่งเสริม พัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ให้เกิดความเข้มแข็ง นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นเอง

“จากที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยสามารถส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ได้เป็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ดั่งเช่น นายกรุง ดวงเงิน เกษตรกร Smart Farmer ต้นแบบจังหวัดมหาสารคาม  ด้านข้าวอินทรีย์และผักอินทรีย์ ที่ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ ด้านการประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม และสำนักงานเกษตรอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จนยกระดับการประกอบอาชีพการเกษตรได้เป็นผลสำเร็จ จากเดิมที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาสู่การทำเกษตรผสมผสานในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งยังนำแนวทางตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” มาปรับประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จอีกด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

Advertisement

ด้าน นายกรุง ดวงเงิน เกษตรกร Smart Farmer ต้นแบบ เจ้าของไร่รวมพลัง ตั้งอยู่เลขที่ 46 หมู่ที่ 16 บ้านโนนแคน ตำบลเวียงสะอาด อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ไร่รวมพลัง มีพื้นที่รวม 50 ไร่ ได้แบ่งสัดส่วนและจัดสรรพื้นที่ในการประกอบอาชีพการเกษตรออกเป็น ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใช้สอยประมาณ 2 ไร่  เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีอินทรีย์ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข.6 จำนวน 20 ไร่ พื้นที่ปลูกพืชผักอินทรีย์และไม้ผล จำนวน 10 ไร่ พื้นที่ปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 จำนวน 4 ไร่ และพื้นที่สระน้ำทั้งหมด 8 บ่อ จำนวน 14 ไร่ โดยผลผลิตที่ได้ทั้งหมดของไร่รวมพลัง จะเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก (Organic) ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ (Organic Thailand) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการที่ตนเองสามารถก้าวมาสู่ความสำเร็จได้ในวันนี้ ต้องบอกว่า เป็นเพราะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาในทุกด้านจากสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเกษตรอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และภาคีเครือข่ายต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสนับสนุนให้เข้าโครงการ Young Smart Farmer ในปี 2558 หลังจากตัดสินใจลาออกจากโรงงานที่จังหวัดระยอง และกลับมาอยู่บ้านเพื่อเริ่มต้นประกอบอาชีพเกษตร และปัจจุบันได้ยกระดับมาสู่การเข้าร่วมโครงการ พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

Advertisement

“บอกได้คำเดียวครับว่า เพราะเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัด ที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จแบบเปลี่ยนชีวิตพลิกเปลี่ยนโลก จากเคยทำงานแต่ในโรงงาน หันกลับมาเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ สามารถผลิตสินค้าอินทรีย์ทั้งข้าวและพืชผัก ส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้รักษ์สุขภาพในจังหวัดมหาสารคาม และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลประจำอำเภอ และประจำจังหวัด รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยแต่ละเดือนสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท”

นายกรุง กล่าวต่อไปว่า ถ้าหากเพื่อนเกษตรกรอยากประสบความสำเร็จอย่างมั่นคงในแบบที่มีพี่เลี้ยงที่คอยดูแลเป็นอย่างดี แนะนำสมัครเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น Young Smart Farmer หรือ Smart Farmer ทุกโครงการคือคำตอบที่ดีที่สุด ดั่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะผลจากการได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ ทำให้วันนี้รู้แล้วว่า เราไม่ใช่เป็นแค่เกษตรกร แต่สามารถเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่ประสบความสำเร็จได้ เดิมเคยใช้แต่แรงในการทำนาปลูกข้าวขาย แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะได้รับการส่งเสริมทำการเกษตรให้รู้จักการวางแผนการผลิตและการบริหารจัดการด้านการตลาด รวมถึงการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัด พร้อมเข้ามาช่วยเหลือ แนะนำ และสนับสนุนอย่างเต็มที่

นายกรุง ดวงเงิน เกษตรกร Smart Farmer ต้นแบบ เจ้าของไร่รวมพลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างเช่น ด้านการผลิต ได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและมีคุณภาพ เช่น การปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือนระบบอัจฉริยะ โดยใช้ Application ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยทางระบบท่อ มีการใช้ระบบโซล่าเซลล์ในฟาร์ม เพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าและเป็นพลังงานสะอาด รวมถึงใช้ระบบตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นการยืดอายุและเพิ่มมูลค่าในสินค้า เป็นต้น

“ขณะที่ด้านการตลาด ได้ยึดแนวทางตามนโยบายตลาดนำการผลิตมาปรับใช้ จนสามารถผลิตสินค้าเกษตรตรงกับที่ตลาดต้องการ มีคุณภาพ และมีปริมาณที่ต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม และสำนักงานเกษตรอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ได้สนับสนุน และผมได้นำมาปรับใช้จนกลายเป็นความสำเร็จและสามารถสร้างรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท และไม่เพียงแค่ตนเองเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ยังได้มีการขยายผลไปสู่เพื่อนเกษตรกร ชุมชน และผู้ที่มีความสนใจ นำไปสู่การรวมกลุ่มกิจกรรม เช่น กลุ่มผลิตผักปลอดสารพิษบ้านโนนแคน กลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์บ้านโนนแคน 1 และกลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์บ้านโนนแคน 2 พร้อมกันนี้สำนักงานเกษตรอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ยังได้จัดตั้งให้ไร่รวมพลังเป็น เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการศึกษา เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ สำหรับเกษตรกร และประชาชนที่สนใจด้วย”

“ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในขณะนี้ ด้านการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าหลัก อย่างเช่น โรงพยาบาล ต้องถือว่าไม่ได้รับผลกระทบ แต่ที่กระทบคือ การออกร้านจำหน่ายสินค้าในงานต่าง ๆ ที่จัดโดยภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดต่าง ๆ ที่ต้องหยุดลง ซึ่งได้มีการปรับแนวทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการหันมาเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบของตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น โดยเพิ่มการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านช่องทาง facebook ชื่อ “สวนนายกรุง′ เกษตรวิถีดั้งเดิม” และตั้งร้านจำหน่ายบริเวณหน้าสวนด้วย เพื่อสื่อให้ผู้บริโภคในพื้นที่ และอำเภอต่าง ๆ เลือกซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ และยังมีการจัดส่งสินค้าให้ตามที่สั่งซื้อล่วงหน้าอีกด้วย ซึ่งมีผลตอบรับดีในระดับที่น่าพอใจมาก สามารถระบายผลผลิตออกไปได้พอสมควร ดังนั้น จึงอยากแนะนำว่า การจะอยู่รอดอย่างยั่งยืนในอาชีพเกษตรนั้น สิ่งสำคัญต้องใช้หลักตลาดนำการผลิต เน้นผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด สินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีผลผลิตออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง นี่คือเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้อยู่รอดได้และสามารถก้าวข้ามวิกฤตต่างๆ ได้” นายกรุง กล่าวในที่สุด

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image