การออกแบบพื้นที่ทางการเกษตร หัวใจสร้างความมั่งคงทางอาหาร

“ชีวิตของดิฉันเปลี่ยนไปมากเพราะว่าการที่ได้น้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” ทำให้ลดรายจ่ายและมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัว” คำบอกเล่าจากคุณพรรณี ต้อไธสง เกษตรกร-ครัวเรือนต้นแบบ จากโครงการโคก หนอง นา โมเดล จ.ศรีสะเกษ ที่ชีวิตพลิกผันหลังจากเข้าร่วมโครงการ

คุณพรรณีเล่าว่าเดิมทีทำนาปลูกข้าวอย่างเดียว เพราะเป็นอาชีพที่พ่อแม่ทำไว้แต่แรก แต่ลำพังการปลูกข้าวอย่างเดียวรายได้ต่อปีไม่มากพอเพราะว่าการทำนามีต้นทุนสูงมาก รายได้เราไม่พอกับรายจ่าย ก็เลยต้องคิดปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรของเรา จนเราได้รู้จักโครงการนี้ที่กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การปรับเปลี่ยนพื้นที่โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาปรับใช้หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชหลายๆ อย่างตามทฤษฎีใหม่ ปัจจุบันพื้นที่ 8 ไร่ 1 งาน ที่ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ของคุณพรรณีเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงและมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น

สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ได้แบ่งว่าจะมีพื้นที่กักเก็บน้ำ มีพื้นที่สำหรับปลูกผักไม้ผลแล้วก็มีแปลงนาโดยจะเน้นเรื่องของปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่า 5 ระดับ  มีการขุดโคก หนอง แบ่งพื้นที่ทำสวนเกษตรไร่นาผสมผสาน มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ อาทิ มะปราง มะยงชิด กล้วยหอมทอง หมาก พลู ปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงวัว เป็ดไก่ หมูป่า ทำนาข้าว และเพาะชำกล้าไม้จำหน่ายจนประสบความสำเร็จและพื้นที่บ้านของคุณพรรณีถูกใช้เป็นที่เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแบ่งปันความรู้จากการปฏิบัติจริงแก่ผู้สนใจ

Advertisement

คุณพรรณีเล่าว่าปัจจุบันชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างมากเพราะว่าการที่ปลูกพืชผสมผสาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากเดิมที่เรามีรายได้แค่การปลูกข้าวปีละครั้ง แต่พอเรานำหลักทฤษฎีใหม่มาใช้เราก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งรายได้ส่วนของที่เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนและรายปี ซึ่งสามารถทำให้คุณภาพชีวิตครอบครัวดีขึ้นจากเดิมมากๆ เรียกได้ว่ามีรายได้เพิ่มเป็นเท่าตัว

พืชหลักๆ ที่ทำรายได้ให้เป็นอันดับแรกๆแต่ละปีก็คือ มะปราง กับหมาก โดยเฉพาะการปลูกหมากจะมีรายได้ตลอด จะมีตั้งแต่หมากอ่อน หมากสุก หมากแห้ง แล้วเราก็เพาะต้นกล้าจำหน่ายด้วย มะปรางก็เช่นเดียวกัน ซึ่งในจังหวัดศรีสะเกษที่อำเภอของเราสามารถปลูกผลไม้เหมือนกับทางภาคกลางได้ เพราะสภาพเป็นพื้นที่ลุ่มและมีการใช้ลำน้ำห้วยยางที่ใช้ร่วมกัน 4-5 หมู่บ้าน จากตอนนั้นมาชาวบ้านอื่นๆก็เริ่มหันมาปลูกมะปรางมากขึ้น จากเดิมมีเฉพาะที่หมู่บ้านของดิฉันพอเห็นการประสบผลสำเร็จ ชาวบ้านในหมู่บ้านรอบพื้นที่รอบลำน้ำนี้ ก็เริ่มหันมาทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น

Advertisement

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเช่นนี้ทำให้คุณพรรรณีได้เป็นต้นแบบ ได้จุดประกายให้คนในชุมชนอยากปรับปรุงพื้นที่ คุณพรรณีเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ตรงว่าพอปรับเปลี่ยนพื้นที่แล้วมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างไร มีรายได้เพิ่มขึ้นแค่ไหน ก็ทำให้ชุมชนมองเห็นและเข้ามาปรึกษากับเราและได้นำไปปรับใช้ในครัวเรือนของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนด้วย

ในมุมมองของคุณพรรณี มองว่าโครงการนี้เน้นเรื่องการปลูก-การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร เพราะฉะนั้น การทำโคก หนอง นา จะเป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือกทำให้เราสามารถอยู่ได้ไม่ลำบาก พอเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด เราก็อยู่ได้เพราะเรามีพร้อมทุกอย่างอยู่ในพื้นที่ของเรา ส่วนภัยธรรมชาติต่างๆ ก็ไม่เกิดผลกระทบเพราะว่าทุกวันนี้ผลผลิตเราพอกิน หากเหลือเราก็จำหน่าย แถมยังไม่มีผลกระทบด้วยเพราะว่าทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีในการช่วยหาตลาดจำหน่ายผลผลิตได้

ที่สำคัญอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคุณพรรณีได้จัดสรรพื้นที่ให้มีการเลี้ยงสัตว์ด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างครบวงจรสามารถอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องไปจ่ายตลาดเลย อย่างเช่นการเลี้ยงสัตว์เราจะเน้นเรื่องคำสอนในหลักสูตรที่ให้เราพึ่งพาธรรมชาติ ก็คือเราจะเน้นการลดต้นทุนจึงใช้วัตถุดิบในพื้นที่มาเป็นอาหารให้กับสัตว์ เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่ได้ใช้ต้นทุนในการเลี้ยงเต็ม 100% เพราะจากเดิมเราต้องซื้ออาหารทั้งหมด แต่พอเราทำตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เราก็มีการประยุกต์ทำอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนทำให้เราไม่เดือดร้อนสามารถควบคุมรายจ่ายได้ ที่สำคัญเราก็มีอาหารปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือนเช่นเดียวกับในเรื่องของพืชผักที่เราปลูกไว้กิน เราใช้หลักกสิกรรมธรรมชาติในการปลูกพืชเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและเป็นอาหารที่ปลอดภัยไร้สารพิษ

การดูแลพื้นที่ทุกวันนี้คุณพรรณีได้ทำกันเองในครอบครัวกับสามีและลูก 1 คน แบ่งหน้าที่กันทำ พอได้เงินจากการจำหน่ายผลผลิตแล้วก็จะมีการหมุนเวียนกันใช้ในครัวเรือนและแบ่งเก็บ ซึ่งครั้งนั้นหลังจากที่ไปอบรมกลับมา คุณพรรณีก็ได้มีโอกาสเปิดบ้านต้อนรับ คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มาเยี่ยมเยียนที่บ้าน แล้วก็ได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นพื้นที่ใช้ฝึกอบรมโครงการโคก หนอง นา เป็นครัวเรือนต้นแบบของจังหวัด ที่ผ่านมามีผู้คนนับพันมาเยี่ยมชม เรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูล

คุณพรรณีเล่าอย่างภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพอื่นก็สามารถน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้โดยยึดหลักความพอเพียง ความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญคือมีความรู้คู่คุณธรรมก็จะทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุขโดยที่อาจจะไม่จำป็นต้องถึงกับร่ำรวยมาก แต่เราก็สามารถอยู่อย่างมีความสุข พอกิน พอใช้ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image