สสส. เปิดเว็บไซต์ My HERO ชวนสร้างพลังสู้ ฝ่าวิกฤติโควิด

ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจประเทศไทย เมื่อเจอวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 การประกอบธุรกิจที่เคยเจริญรุ่งเรืองกลับมาเป็นศูนย์ในทันที สร้างผลกระทบในทุกระดับ ทุกประเภทการท่องเที่ยวอย่างมากและระยะยาวให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนนี้ ทั้งการดำรงชีวิตและจิตใจ การเติมวัคซีนใจเป็นระยะ หาพลังบวกสามารถจัดการชีวิตได้อย่างมีพลังเป็นทางออกที่สำคัญในการช่วยฝ่าฟันปัญหาให้มีทางออกได้

สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะองค์กรนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อสถานการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคนไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาต้นแบบร่วมกับภาคีเครือข่ายที่มีศักยภาพ ต้นทุน และพลังในการพัฒนาวิชาการ รวมถึง การขับเคลื่อนในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง จึงผนึกกำลังร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) พัฒนาเครื่องมือนวัตกรรมใจ เว็บไซต์ My HERO เพื่อเป็นนวัตกรรมเครื่องมือออนไลน์สำหรับรู้เท่าทันสภาวะใจตัวเอง ช่วยดูแลจิตใจ และสร้างเสริมสุขภาพจิตคนไทยให้สามารถผ่านพ้นโรคโควิด-19 และวิกฤติอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตต่อไปได้

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เปิดเผยว่า สำหรับระยะเริ่มต้นของเว็บไซต์ My HERO มีความมุ่งเน้นในเรื่องการเสริมสร้างพลังใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักและระยะยาว ซึ่งการทำงานที่เฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย มีพื้นที่ชัดเจน สามารถเยียวยาจัดการปัญหาและสร้างพลังสู้ และนำไปสู่การสร้างปัญญาได้อย่างรอบด้านและดีขึ้น

Advertisement

ผศ.ดร.ศรัณย์ พิมพ์ทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการความรู้ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว. เปิดเผยว่า เว็บไซต์ My HERO เกิดขึ้นจากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะประเทศไทยมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของ และพนักงาน จากข้อมูลที่ได้รับเกิดความเครียดสะสม ซึ่งการทำงานร่วมกับ สสส. ที่ผ่านมาในการพัฒนาการส่งเสริมลักษณะทางจิตใจ โดยทั่วไปจะพัฒนาแบบลงพื้นที่ไปเจอกลุ่มที่ประสบปัญหาให้การช่วยเหลือ ดูแล แนะนำ แต่เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเหมาะสมทั้งเวลา การเดินทาง การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จึงพัฒนาเป็นรูปแบบเว็บไซต์ขึ้น

แนวคิดสำคัญ คือ เรื่อง HERO เป็นตัวแทนของทุนทางใจ แม้จะเจอวิกฤติ ก็มีภูมิคุ้มกันเหมือนเป็นวัคซีน เมื่อประสบปัญหา ล้มเหลว หรือเจอภาวะต่างๆ ภูมิคุ้มกันทางใจก็จะสามารถช่วยให้บุคคลต่อสู้และแก้ปัญหานั้นได้ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1.H-Hope การมีความหวัง 2.E-Efficacy การเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง 3.R-Resiliency ความยืดหยุ่นทางจิตใจเมื่อเจออุปสรรค และ 4.O-Optimism การมองโลกในแง่ดี สร้างมุมมองทางบวกต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต

“โครงสร้างเว็บไซต์ My HERO เริ่มจากการสำรวจตัวเองประเมินสุขภาพใจ จะปรากฏคะแนนและการแปลผลออกมา เพื่อให้รู้ว่าสุขภาพใจอยู่ในระดับไหน ต่อด้วยคลิปแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจจากคนที่มีสถานการณ์ใกล้เคียงกัน เพื่อให้เป็นโมเดลผู้ไม่ยอมแพ้และพยายามต่อสู้ และแสดงให้เป็นความหวังแม้อยู่ในภาวะวิกฤติ จากนั้นเข้าสู่กิจกรรม ให้ผู้เข้าใช้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับเว็บไซต์ โดยผ่านการเรียนรู้ให้กับผู้เข้าใช้ด้วยการถาม-ตอบ ไม่ให้น่าเบื่อและสร้างการมีส่วนร่วม”

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรกเป็นต้นมา คนไทยได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตค่อนข้างสูง เพราะมีการศึกษาว่าเมื่อเกิดโรคระบาดแบบนี้แม้มีระบาดแค่ 1 ระลอก แม้ปัญหาทางกายอาจจะจบที่ใส่หน้ากากแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตยังต่อยอดไปอีก 3-5 ปี ซึ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 คนที่ล้มหรือธุรกิจที่มีปัญหา อาทิ ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ต่างได้รับผลกระทบเต็ม ๆ โดยผลการติดตามผลกระทบด้านจิตใจของคนไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิต เกิดขึ้นไม่เท่ากันในแต่ละช่วง โดยความเครียด เศร้า ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจะสูงขึ้นตามอัตราการแพร่ระบาด ซึ่งสัปดาห์ล่าสุดสภาวะจิตใจคนไทยคล้ายช่วงต้นมกราคมที่มีการระบาดขั้นรุนแรง และมีตัวเลขความเครียดค่อนข้างสูง

“การที่มีเว็บไซต์หรือสื่อดิจิทัลที่คนไทยให้ความสนใจอย่างมาก เช่น กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการเรื่อง Mental Health  มีการเข้าถึงในปีที่ผ่านอย่างเข้มข้น ฉะนั้น การที่มีเครื่องมือ สื่อ หรือวิธีการเพิ่มเติมในหลาย ๆ ส่วนที่เฉพาะเจาะจงกับประชาชนแต่ละกลุ่มจะยิ่งดี เนื่องจากกรมสุขภาพจิตไม่สามารถทำงานเฉพาะกลุ่มประชากรหรือกลุ่มอาชีพแต่ละกลุ่มอย่างเข้าใจในรายละเอียดเชิงลึกที่แท้จริง เพราะไม่ได้มีข้อมูลเชิงลึก หากได้ภาคเอกชน ประชาสังคมมาช่วยจะเป็นหัวใจสำคัญจัดการปัญหาสุขภาพจิตในรอบนี้ เป็นการเติมงานสุขภาพจิตที่นโยบายประเทศเน้นสร้างพลังอึด ฮึด สู้”

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปหรือผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานและแบบประเมินจิตใจตนเอง โดยเว็บไซต์ My HERO สื่อประกอบที่เข้าใจง่ายออกมาหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและเผยแพร่ นอกจากนี้ มีการติดตามผล ด้วยการส่งอีเมลไปยังผู้ใช้งานในอีก 30 วัน ให้กลับมาประเมินสุขภาพใจอีกครั้ง เพื่อสังเกตว่าหลักคิดหลักการของการพัฒนา HERO ที่ได้เรียนรู้ ช่วยทำให้ค่าคะแนนสุขภาพใจดีขึ้นหรือไม่ โดยผู้ประกอบอาชีพอื่น สามารถเข้าใช้งานได้เว็บไซต์ My HERO ได้เช่นเดียวกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image