CEA เดินหน้าผลักดัน Soft Power ไทย หนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

จากการที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญต่อการผลักดัน Soft Power หรือการพัฒนาทุนวัฒนธรรมและทุนความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และขยายศักยภาพสู่การส่งออกในระดับสากลนั้น

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงพร้อมขานรับนโยบายดังกล่าวและแสดงความเห็นว่า “นับเป็นโอกาสอันดีที่กระแส Soft Power ได้กลับมาอีกครั้ง ซึ่ง Soft Power ได้ถูกใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ของหลายประเทศ เพื่อเผยแพร่และขยายอิทธิพลทางวิถีชีวิต ประเพณี ตลอดจนรสนิยมในการบริโภคอุปโภค ผ่านตัวสินค้าและบริการที่ได้รับการพัฒนา ผลิต และสื่อสารด้วยความคิดสร้างสรรค์ เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ แฟชั่น เกม  อาหาร ฯลฯ โดยปลายทางคือการส่งออกสินค้าและบริการไปยังสากล ที่ผ่านมา เราจึงเห็นนโยบายอย่าง Cool Japan ของญี่ปุ่น Great Britain ของสหราชอาณาจักร หรือ Creative Korea ของเกาหลีใต้ ซึ่งแต่ละประเทศ ล้วนหยิบจุดแข็งของวัฒนธรรมตนเอง มาเป็นแก่นสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน และขยายความต่อด้วยการวางกลยุทธ์การตลาดซึ่งมุ่งเป้าสู่ระดับนานาชาติที่แหลมคม จนเกิดเป็นกระแสความนิยมและต่อยอดสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน”

“ในความเป็นจริงแล้ว Soft Power นับเป็นประเด็นที่คนไทยคุ้นเคยและอยู่ในกระแสความนิยมมาโดยตลอด ไล่เรียงมาตั้งแต่ วัฒนธรรมแบบฮอลลีวูดของอเมริกัน การ์ตูนและมังงะของญี่ปุ่น แฟชั่นพังก์ร็อก แบบฝั่งอังกฤษ แต่คลื่นความนิยมของเกาหลีหรือ Korean Wave นั้นนับเป็นสิ่งที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกมากที่สุด เพราะมีการวางแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ ที่สามารถเรียบเรียงเรื่องราวขององค์ประกอบความเป็นเกาหลีในมิติต่าง ๆ เพื่อสื่อสารออกไปอย่างสร้างสรรค์และแนบเนียน จนเกิดเป็นการกระตุ้นความต้องการของตลาดในกลุ่มคนหลากหลายเจเนอเรชันพร้อมกัน”

“จุดสำคัญของสิ่งที่ทุกประเทศผลักดัน Soft Power ก็คือการหยิบเอาดีเอ็นเอของชาติมาเป็นวัตถุดิบสำคัญ และขยายความออกไปผ่านความสามารถของนักสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยมีสินทรัพย์ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้อย่างล้นเหลือ แต่เราจำเป็นต้องเฟ้นหาสินทรัพย์ที่เป็นจุดแข็งและมีการรับรู้ในตลาดสากล ประกอบกับความรู้ความเข้าใจในกระแสโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถพัฒนาไปต่อได้ เช่น อาหารไทย หรือเทศกาลท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ทางธุรกิจต่อเนื่อง มีแรงงานที่มีทักษะฝีมือ มีความพร้อมของภาคเอกชนรองรับ และมีความต้องการของตลาดสูง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราวางกลยุทธ์ให้อาหารเป็นตัวนำ ผู้ประกอบการหรือนักสร้างสรรค์ยังสามารถทำกิจกรรมทางตรง คือการส่งเสริมความนิยมของอาหารไทย เชฟไทย ร้านอาหารไทย วัตถุดิบไทย เพื่อเชื่อมต่อไปยังแหล่งเกษตรกรรมหรือแหล่งเพาะปลูกซึ่งเป็นที่มาของอาหารและวัตถุดิบ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมทางอ้อมที่สื่อสารผ่านเรื่องราวของซีรีส์หรือภาพยนตร์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่หลาย ๆ ประเทศกำลังดำเนินอยู่” นายอภิสิทธิ์ ขยายความ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม นโยบาย Creative Economy ของหลายประเทศ นอกจากการมุ่งเน้นสร้างและผลักดัน เอกลักษณ์หรือดีเอ็นเอของชาติผ่านสินค้าและบริการแล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ ระบบนิเวศสร้างสรรค์ควบคู่กันไปด้วย ตั้งแต่การบ่มเพาะเยาวชนสร้างสรรค์ การเปิดพื้นที่ทดลอง จัดแสดงผลงานสร้างสรรค์ มาตรการทางกฎหมายที่ช่วยสนับสนุน กฎระเบียบที่คล่องตัวและไม่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ ไปจนถึงการส่งเสริมศักยภาพของทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ เช่น การวิจัยพฤติกรรมและการรับรู้ของผู้บริโภคต่างประเทศ

นอกจากนั้น นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวย้ำอีกว่า “ปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ คน หรือ Creative Talent ซึ่งเป็นเจ้าของความคิดสร้างสรรค์ เจ้าของความสามารถและทักษะ โดยที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามฝึกฝนและทุ่มเทอย่างหนักของบรรดาศิลปินและนักสร้างสรรค์จำนวนมาก เช่น กว่าที่จะมี Lisa 1 คน หรือ BTS 1 วง นั้น ถือเป็นการลงทุนทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพยากร ของตัวศิลปิน ทีมงาน และต้นสังกัดที่เป็นภาคเอกชน ซึ่งการพัฒนาทาเลนต์นั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนบ่มเพาะในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างกลไกที่เอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มทั้งเชิงกายภาพและออนไลน์เพื่อจัดแสดงและเผยแพร่ผลงาน หรือมาตรการลดหย่อนทางภาษีที่จูงใจ โดยเฉพาะการจัดตั้ง ‘กองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ เพื่อสนับสนุนให้เอกชนสามารถขับเคลื่อนในระดับธุรกิจ อันจะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดผลงานจากความสามารถของนักสร้างสรรค์ และก้าวกระโดดสู่เวทีสากลได้ในที่สุด”

Advertisement

ศักยภาพสร้างสรรค์ไทย…ก้าวที่ท้าทาย

ปัจจุบัน แม้ว่าเราจะเห็นนักสร้างสรรค์ไทยเติบโตในเวทีระดับโลก ทั้งวงการภาพยนตร์ งานศิลปะ และสถาปัตยกรรม แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า โดยมากเป็นความสามารถในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นก้าวแห่งการปูทางให้นักสร้างสรรค์ไทยได้เป็นที่รู้จักในเวทีสากล ดังนั้นการจะผลิตและส่งเสริมผลงานสร้างสรรค์ได้ยืนระยะอย่างแท้จริงนั้น จำเป็นจะต้องวางทิศทางให้สอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์โลก โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ Creative People, Creative Business และ Creative City ให้เป็นหน่วยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้ง 15 สาขา ได้แก่

  • งานฝีมือและหัตถกรรม
  • ดนตรี
  • ศิลปะการแสดง
  • ทัศนศิลป์
  • ภาพยนตร์
  • การแพร่ภาพและกระจายเสียง
  • การพิมพ์
  • ซอฟต์แวร์
  • การโฆษณา
  • การออกแบบ
  • การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม
  • แฟชั่น
  • อาหารไทย
  • การแพทย์แผนไทย
  • การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

โดยการส่งเสริม 3 องค์ประกอบหลักดังกล่าว CEA จะทำงานร่วมกับเครือข่ายสมาคมวิชาชีพที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของธุรกิจ ไปพร้อมกับการจัดทำโปรแกรมเพื่อส่งเสริมนักสร้างสรรค์ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และภูมิภาค ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ปัจจุบัน CEA สามารถจัดทำ ‘ระบบข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ที่ครบถ้วนของประเทศไทยได้สำเร็จจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เกิดเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับสถิติสำคัญในการบ่งชี้ถึงระดับการพัฒนาและการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยจากการรวบรวบข้อมูลพบว่า ในปี 2562 ใน 15 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.54 ล้านล้านบาท มีมูลค่าจีดีพีของประเทศคิดเป็นสัดส่วน 9.13% โดย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มากที่สุด ได้แก่ 1. การท่องเที่ยว 2. อาหารไทย 3. โฆษณา 4. แฟชั่น และ 5. การออกแบบ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2564 อัตราการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative GDP) ของประเทศจะเป็นสัดส่วน 0.70% และ ปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 3.70% ตามลำดับการฟื้นตัว

“อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 15 สาขาของไทยนั้น มีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสในการพัฒนา ซึ่ง CEA ได้จัดทำโรดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาไว้ โดยเป็นการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรับฟังเสียงจากสมาคมวิชาชีพและนักสร้างสรรค์ เพื่อนำมุมมองและความต้องการของภาคธุรกิจมาขยายผลในการสร้างเครื่องมือและรูปแบบโครงการที่รองรับการพัฒนา แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ CEA เล็งเห็นความสำคัญสำหรับการพัฒนาภาพรวมของทุกสาขาก็คือ การพัฒนา Thailand Content ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนา Soft Power ที่สำคัญให้มีความโดดเด่นและชัดเจนในการสื่อพลังนี้ออกไปผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ”

และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการพูดถึงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้าง Soft Power ที่สำคัญของไทยผ่าน “5F” ได้แก่ Food – อาหาร, Film – ภาพยนตร์, Fashion – แฟชั่น, Fighting – มวยไทย และ Festival – เทศกาลประเพณี ที่สามารถหยิบยกขึ้นมาเพื่อขยายความสามารถของไทยให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันและอนาคต พลวัตรของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจนำมาซึ่งปัจจัยใหม่ ๆ ที่เข้ามาท้าทายภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น และต้องนำมาพิจารณาประกอบร่วมด้วย เช่น ตลาด NFT (Non-Fungible Token) เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) หรือสถานการณ์โควิด-19 ที่จะเป็นตัวแปรในการเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้เช่นกัน ดังนั้น การพัฒนา Thailand Content ที่อยู่บนชุดองค์ความรู้ใหม่ และการศึกษาวิจัยตลาดใหม่ ๆ จะทำให้การพัฒนาแก่นแท้ของ Soft Power ไทยนั้นแข็งแกร่ง และเป็นใจความสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าวสรุป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image