นายยม คำยอด เกษตรกรปราดเปรื่อง คนบึงกาฬ Smart Farmer กรมส่งเสริมการเกษตรทำเกษตรผสมผสานแบบเน้นคุณภาพ กำไรปีละแสน

กรมส่งเสริมการเกษตร พัฒนาศักยภาพเกษตรกร นายยม คำยอด เกษตรกรวัย 70 ปี ที่จังหวัดบึงกาฬ หลังจากเข้าร่วมโครงการ Smart Farmer ปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรจากเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสาน เน้นผลิตสินค้าคุณภาพ ตามที่ตลาดต้องการ หักทุนเหลือกำไรปีละแสน อยู่ได้อย่างเข้มแข็ง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ที่มีความรู้ความสามารถในการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด มีทักษะด้านดิจิทัลและสามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สามารถปรับตัวภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงการเป็นเกษตรกรต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ตามนโยบายปฏิรูปการเกษตรของประเทศไทยของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การดำเนินการที่มีอย่างต่อเนื่องในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้ประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาเกษตรกรให้ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ดัง นายยม คำยอด หนึ่งในเกษตรกรของอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ที่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ Smart Farmer ในปี 2562 และจากการส่งเสริมและพัฒนาของสำนักงานเกษตรอำเภอโซ่พิสัย และสำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จในการทำเกษตรแบบผสมผสานเต็มรูปแบบ และเกษตรกรได้รับการพัฒนาจนเป็น Smart Farmer สามารถเป็นเกษตรกรต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เพื่อนเกษตรกรที่สนใจ

Advertisement

นายยม คำยอด Smart Farmer อยู่บ้านเลขที่ 77 บ้านโคกกลาง ตำบลศรีชมภู อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า การสมัครเข้าร่วมโครงการ Smart Farmer เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างมาก เพราะเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ในทุกด้าน เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัด ทุกคนได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในทุกด้าน แต่สำหรับผมที่มีค่าและเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด คือ การให้แนวคิด การสร้างโอกาสในการเปิดโลกได้ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ จากการเข้าร่วมอบรม สัมมนา และการได้ไปศึกษาดูงาน

“ในปี 2562 ที่เข้าร่วมโครงการนั้น ผมอายุ 68 ปี ชีวิตเป็นเกษตรกรมาตลอด โดยก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาสู่การทำเกษตรผสมผสาน ทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว แต่มองว่า ในอนาคตถ้าอยากอยู่อย่างเข้มแข็งอย่างยั่งยืนแล้ว ไม่ควรยึดการสร้างรายได้เพียงจากพืชชนิดเดียว แต่ควรมาจากการปลูกพืชหลาย ๆ อย่างในรูปแบบเกษตรผสมผสานที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ตั้ง ปลูกทุกอย่างที่กิน เหลือก็ขาย และโครงการ Smart Farmer ได้ช่วยทำให้สิ่งที่คิดได้กลายเป็นจริง เพราะทำให้ผมมีโอกาสได้เข้าถึงของจริง เพราะทางเกษตรอำเภอได้จัดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้ และพาไปศึกษาดูงาน ผมได้ไปหลายจังหวัดมาก และที่สำคัญยังช่วยสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิตด้วย จากโอกาสที่เกษตรตำบล เกษตรอำเภอได้เปิดทางให้ ผมนำทุกอย่างที่สนใจมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเรา เหมาะกับพื้นที่ เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี  เพื่อเพิ่มผลผลิตลดต้นทุนการผลิต จากความรู้ที่ได้รับ ทำให้สามารถนำเศษวัสดุรอบตัวทุกอย่างมาใช้ให้ เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ทิ้งอะไรให้สูญเปล่า เช่น นำเศษเหลือจากพืชมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ รวมถึงทำน้ำหมักชีวภาพจากสับปะรด ที่ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างเห็นได้ชัด”

Advertisement

นายยม กล่าวต่อไปว่า พื้นที่ 22 ไร่ ในวันนี้ได้แบ่งเป็นทำสวนยางพารา 10 ไร่ และอีก 12 ไร่ จัดแบ่งพื้นที่เกษตรสวนผสมมีการทำนา 3 ไร่ ปลูกไม้ผลได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ขนุน มะม่วง มะพร้าว ละมุด ส้มโอ มะขาม ไผ่ และสับปะรด เป็นต้น และพืชผักสวนครัว จำนวน 7 ไร่ และบ่อปลาดุก ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาไน ซึ่งเป็นปลาที่บริโภคอยู่ประจำเป็นที่ต้องการของตลาดและเลี้ยงไม่ยาก จำนวน 2 ไร่ จากพืชผลทั้งหมด สามารถสร้างรายได้ให้ทั้งในรูปแบบรายวัน รายเดือนและรายปี  ในปี 2563 ที่ผ่านมา สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ทั้งสิ้น 360,000 บาท โดยเป็นต้นทุนประมาณ 200,000 บาท และที่เหลือเป็นกำไร 160,000 บาท ซึ่งการที่จะมีกำไรปีละ 100,000 บาทขึ้น นั่นคือเป้าหมายที่ได้วางไว้ และสามารถทำได้มาจนถึงทุกวันนี้

“การที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพการเกษตรได้นั้น มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญประการแรก ต้องมีที่ปรึกษา มีผู้ช่วยที่คอยแนะนำช่วยเหลือ ซึ่งในส่วนนี้ต้องบอกว่าสำนักงานเกษตรอำเภอโซ่พิสัย  และสำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ คือหน่วยงานหลักที่ช่วยได้ทุกเรื่องตั้งแต่การผลิตไปถึงการตลาด อีกประการที่สำคัญคือ ต้องมาจากตัวของเกษตรกรเอง เคล็ดลับที่จะทำให้สำเร็จและเป็นหนึ่งในข้อแนะนำแก่เพื่อนเกษตรกรที่สนใจ ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมชมและดูงาน คือ ต้องมีการวางแผนบริการจัดการสวนของตัวเองอย่างแน่ชัด ต้องเข้าใจดินในสวน ดินเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงบำรุงดินให้ดีอย่างไร ต้องเข้าใจพืชที่ปลูก พืชนั้นเหมาะสมกับดินที่สวนหรือไม่ ปลูกแล้วต้องดูแลอย่างไร รวมถึงรู้ความต้องการของตลาดว่าต้องการอะไรและที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ เช่น ต้องไปสวนดูแลต้นไม้ที่ปลูกทุกวัน ต้องให้น้ำตามที่พืชต้องการ ง่าย ๆ คือ ห้ามขี้เกียจ เป็นต้น ด้านตลาดรองรับผลผลิต ขอให้ทำตามนโยบายตลาดนำการผลิต ผลิตให้ดีมีคุณภาพตรงกับที่ตลาดต้องการ เรื่องตลาดจะไม่เป็นปัญหา อย่างที่สวน พ่อค้าจะเข้ามารับซื้อและสั่งจองไว้ล่วงหน้าเลย เพราะเขารู้ว่าของเราดี ปลูกด้วยใจ มีคุณภาพ เขาเอาไปขายอย่างไรก็ขายหมด ทำให้ทุกวันนี้ไม่มีปัญหาเรื่องตลาดเลย”

Smart Farmer อำเภอโซ่พิสัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากสามารถวางแผนได้อย่างรอบครอบ จะช่วยทำให้เป็นเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งลดผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์อื่น ๆ เรียกว่ามีภูมิคุ้มกันตัวเอง อย่างในสถานการณ์แพร่ระบาดของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ในขณะนี้มีผลกระทบน้อยมาก เท่าที่เจอคือ พ่อค้าที่มาสั่งซื้อสับปะรดมีการลดปริมาณสั่งซื้อลดลง แต่ทางแก้ไขได้เตรียมการไว้แล้วคือ การหาตลาดรองรับ นั่นคือ ตลาดในชุมชนด้วยการผลิตที่เน้นคุณภาพได้มาตรฐาน

“ดังนั้นสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว อยากกลับบ้านเกิดเพื่อมาทำอาชีพเกษตร สิ่งสำคัญคือ วางแผนให้ดี มองหาตลาดว่าต้องการอะไร ด้านการปลูกพืชนั้น จะใช้หลักการของผมก็ได้คือ ปลูกทุกวัน ปลูกวันละ 10 ต้น ซึ่งใน 1 เดือนจะมีต้นไม้ที่ปลูกถึง 300 ต้น และ 300 ต้นนั้นจะให้ผลผลิตเราได้เก็บไปขาย มีรายได้ ภาคการเกษตรยังมีอนาคต แต่ต้องวางแผนให้ดี ต้องทำให้ถูกต้อง มีตลาด และที่สำคัญ ต้องทำบัญชีครัวเรือนให้รู้รายรับรายจ่าย หากทำตามที่แนะนำรับรองอยู่ได้ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจสามารถเดินทางมาเรียนรู้ได้ที่สวน เพราะที่นี่เปิดกว้างสำหรับทุกคน” นายยมกล่าวในที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image