รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ “ทุกชีวิตเกิดมาเท่าเทียม” กรมประมง “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564”

กรมประมง ได้รับรางวัล “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564” ประเภทภาครัฐ ระดับ ชมเชย จากผลการนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการให้โอกาส สิทธิเสรีภาพ กับคนพิการและกลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQ) และการคุ้มครองสิทธิแรงงานในเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า “ทุกชีวิตเกิดมาเท่าเทียม”

จากคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบและประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในปี 2564 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการจัดประกวด “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน” โดยมีองค์กรต่างๆ ที่ได้มีการนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้ในองค์กร เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารงานที่เคารพสิทธิมนุษยชนในมิติหรือบริบทของหน่วยงาน โดยมีหน่วยงานทั้งองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม  ได้นำเสนอผลงานส่งเข้าประกวด

นายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในปีนี้ กรมประมง ได้นำเสนอผลงานเข้าร่วมประกวด ใน 2 มิติของการเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน  ซึ่งกรมประมงมีนโยบายและแสดงเจตนารมณ์ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนว่า “ทุกชีวิตเกิดมาเท่าเทียมกัน” และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรกรมประมงไปสู่องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ดำเนินงานโดยเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน อันเป็นหลักการที่กรมประมงยึดมั่นในการปฏิบัติต่อบุคลากรทุกคน และครอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน โดยยึดมั่นและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของหลักสิทธิมนุษยชนในทุก ๆ กระบวนการทำงาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการตรวจสอบและหลีกเลี่ยงการละเมิดในด้านสิทธิมนุษยชน  และได้มีการประกาศนโยบายด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อแสดงถึงความตั้งใจหรือเจตจำนงในการเคารพสิทธิมนุษยชนและต้องการยกระดับสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้นให้แก่บุคลากรภายในองค์กรและนอกองค์กร ตลอดจนมีการสื่อสารไปยังบุคลากรในหน่วยงาน ชาวประมง ผู้ประกอบการ ฯลฯ ได้รับรู้รับทราบและเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

Advertisement

การนำเสนอผลงานของกรมประมง แบ่งออกเป็น มิติที่ 1 คือ มิติภายใน : กรมประมงมีการรณรงค์ให้ตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่อดทนต่อการเลือกปฏิบัติ ยอมรับและเคารพในความแตกต่างของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ กลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้พิการ  ซึ่งปัจจุบันกรมประมงมีการจ้างงานคนพิการ มากถึง 116 คน คิดเป็นร้อยละ 145 ของการจ้างเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้ง ยังได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการทั้งในเรื่องของการจัดสถานที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น ทางลาดสำหรับคนพิการในการขึ้นอาคาร  ที่จอดรถสำหรับคนพิการ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการที่มาปฏิบัติงานหรือผู้มาติดต่อราชการ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในกลุ่มเพศทางเลือก  (LGBTQ) มีการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ด้วยการเริ่มต้นจากการอนุญาตให้บุคลากรแต่งกายตามเพศสภาพได้ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ถ้อยคำและกิริยาท่าทางไม่ให้เกิดการตีตราหรือเสียดสี รวมถึงเป็นการแสดงถึงอคติทางเพศที่ไม่เคารพในสิทธิและเสรีของบุคคล นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมของบุคลากร ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ปราศจากการเลือกปฏิบัติมุ่งเน้นการจัดสวัสดิการที่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ และความก้าวหน้าในสายงานในระดับที่สูงขึ้นอย่างเหมาะสม มิติที่ 2 คือ มิติภายนอก : กรมประมงมีการสร้างมาตรฐานการจ้างแรงงานประมงขึ้นอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานสากล ทั้งเรื่องการคุ้มครองความปลอดภัย สุขอนามัย สวัสดิการ และสวัสดิภาพบนเรือประมง เช่น เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 60 ตันกรอส จะต้องมีอาหาร เครื่องดื่ม ที่มีคุณภาพและถูกสุขลักษณะปริมาณเพียงพอเหมาะสมกับการทำงาน มีเวลาพักผ่อนไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง/วัน มีวันหยุดพักผ่อน ไม่น้อยกว่า 30 วัน/ปี บัตรประกันสุขภาพ รับเงินค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคารเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ ฯลฯ โดยการดำเนินงานทั้งหมดจะมีชุดสหวิชาชีพ จาก 5 หน่วยงาน ประกอบด้วยกรมประมง กรมเจ้าท่า กรมจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และล่าม ร่วมตรวจสอบทุกครั้งในการแจ้งเข้า-ออกทำการประมง รวมถึงการสุ่มตรวจกลางทะเลด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของการทำประมงนอกน่านน้ำไทย ที่เป็นเรือขนาดใหญ่ มีการปรับปรุงระเบียบให้เรือประมงนอกน่านน้ำมีการติดตั้งเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ ระบบการเฝ้าระวังอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic monitoring system : EM) และระบบการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic reporting system : ERS) เพื่อใช้ติดตามเฝ้าระวังควบคุมเรือประมง โดยหากพบการกระทำผิดทั้งการทำประมงหรือแรงงาน ข้อมูลในระบบจะถูกใช้เป็นหลักฐานในการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อไป อีกทั้ง ยังมีการส่งผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง (Observer on Board) ขึ้นไปเป็นคนกลางในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนการใช้แรงงานของลูกเรือประมงอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า นอกจากจะสามารถช่วยป้องปรามการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว แรงงานบนเรือประมงยังสามารถติดต่อสื่อสารกับครอบครัวได้ ลดความตึงเครียดในการออกไปทำงานบนเรือประมงเป็นระยะเวลานานอีกด้วย ทั้งยังสามารถขอความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุสุดวิสัยบนเรืออีกด้วย

Advertisement

จากความมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนของกรมประมง ผนวกเข้ามาในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเรื่องแรงงาน มาตรการ กฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดเพื่อเป็นการป้องกันการค้ามนุษย์และเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกคนเพศทุกเพศ ในปีนี้ กรมประมงจึงได้รับรางวัล  “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564” ประเภทภาครัฐ ระดับ ชมเชย ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของกรมประมงในเจตนารมย์แห่งการยึดมั่นในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงอธิบดี กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image