ศูนย์ FIN ม.ช. เดินเครื่องโครงการ U2T ยกระดับสินค้าอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น สู้ Covid-19

จากผลกระทบในการระบาดของโรค Covid-19  ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและธุรกิจในระดับท้องถิ่นอย่างมาก  โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่จำนวนของนักท่องเที่ยวลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด  ทำให้สินค้าท้องถิ่นที่เคยจำหน่ายได้ดี มีภาวะซบเซาลงไปด้วย  ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนให้มากยิ่งขึ้น  ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (Food Innovation and Packaging Center, FIN) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกี่ยวกับอาหารของท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวใน 4 จังหวัด 4 ตำบลของภาคเหนือ  ทำให้เกิดการจ้างงานภายในชุมชนอีกด้วย รวมไปถึงเกิดการยกระดับองค์ความรู้จากการ up-skill/re-skill ของผู้ประกอบการ ร่วมกับการทำงานกับประชนในพื้นที่ โดยมีนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ร่วมกับชุมชน

โครงการนี้ดำเนินการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบที่มีอัตลักษณ์ในท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาสินค้าทางด้านอาหารให้มีนวัตกรรม แปลกใหม่ ควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในด้านการตลาดให้สามารถแข่งขันได้ในสถานการณ์ New Normal โดยได้นำร่องใน 4 ตำบล  ได้แก่  ตำบลตลุกเทียม จังหวัดพิษณุโลก ตำบลปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตำบลวาวี จังหวัดเชียงราย และตำบลสะเมิงใต้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยแต่ละตำบลจะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการและวัตถุดิบที่มีชื่อสียง และเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อนำมาแปรรูปและพัฒนาให้สามารถเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น เช่น ข้าวเกรียบฝรั่งกิมจูรสพริกเกลือ เครื่องดื่มแมคคาเดเมีย โจ๊กไก่ดำ และไก่ดำแผ่นกรอบ เป็นต้น เมื่อได้ผลิตภัณฑ์แล้วยังมีการเข้าไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อสถานที่ในช่วง Covid-19  เพื่อสร้างความมั่นใจ และเตรียมพร้อมในการกลับมาของนักท่องเที่ยวหากสถานการณ์ดีขึ้น  และยังมีการใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เข้ามาช่วยสร้างสีสันด้านการท่องเที่ยว โดยมีป้าย Landmark ที่สามารถรับชมคลิปวีดิโอด้านการท่องเที่ยวของท้องถิ่นผ่านมือถือได้อย่างน่ามหัศจรรย์อีกด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ ในวันที่ 10 และ 17 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ทางโครงการยังได้จัดการอบรมแบบ Virtual Online ในหัวข้อ “ก้าวผ่านวิกฤต  ติดอาวุธ Online”  ให้กับผู้ประกอบการในโครงการ  ผ่านทางออนไลน์ในรูปแบบใหม่  เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพในด้านการตลาดออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ ให้เข้าสู่ระบบดิจิตัลเพื่อการแข่งขันในยุคปัจจุบัน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญในด้าน Social Media Marketing มากมาย  ได้แก่  รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล รศ.ดร.นคเรศ รังควัต อาจารย์ชนัฐ  เกิดประดับ และแขกรับเชิญพิเศษ เจ๊จง – จงใจ  กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จง  เพื่อมาถ่ายทอดความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการ  ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ 4 ตำบลนำร่อง จะมีความพร้อมในด้านคนในชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ที่พร้อมรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านฐานความรู้จากมหาวิทยาลัยตามนโยบายของประเทศ

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image