ที่สุดในชีวิต อธิบดี พช. ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ให้พ้นวิกฤต

“2 ปี ในตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนที่ 29 ได้ทำงานรับใช้ประเทศชาติและได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อช่วยชีวิตชาวบ้าน ผ่านหลายโครงการ” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เผยความภาคภูมิใจในหน้าที่ที่ได้ผลักดันหลายโครงการ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

นายสุทธิพงษ์ บอกเล่าความในใจว่าในฐานะที่ตนเองเป็นคนต่างจังหวัด เกิดที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ชีวิตเกิดมาเป็นคนบ้านนอกคนหนึ่ง ซึ่งมารับราชการทำงานจนเติบโตขึ้นมาตามลำดับ ผมภูมิใจกับทุกตำแหน่งที่ผ่านมา ที่เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนเพื่อประเทศชาติ ในฐานะที่เป็นคนบ้านนอกก็ภูมิใจดีใจ ในชีวิตได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จนมาถึงการรับตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนที่ 29 ถือว่าเป็นโชคและเป็นวาสนา เพราะมีหลายโครงการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใส่พระราชหฤทัยและมีพระราชปณิธานจนสามารถพลิกชีวิตของชาวบ้านและชุมชนได้มากมาย

อาทิ โครงการผ้าไทยที่เราได้ปลุกชีวิตของผ้าไทยขึ้นมาอีกครั้งจนเป็นวาระแห่งชาติ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก หรือโครงการ โคก หนอง นา ที่ได้น้อมนำตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นทางรอดในยามวิกฤตสำหรับประชาชนทุกคนตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ดำเนินโครงการมีชาวบ้านมากกว่า 50,000 ครัวเรือน ได้น้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมากและแทบไม่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเลย เพราะเขาสามารถหากินในพื้นที่ตัวเองได้

Advertisement

พวกเราในฐานะที่เป็นข้าราชการถือว่าเป็นงานที่ทำอย่างไม่รู้จบ จนกว่าประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมาทุกโครงการที่ พช.เราทำได้ช่วยเหลือชาวบ้าน ให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง เช่น โครงการ โคก หนอง นา การที่เราเอามาเรื่องนี้มาดำเนินการเราได้น้อมนำสืบสาน รักษาและต่อยอดทำเป็นหนังสือโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง เราก็ได้พิมพ์หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันฉัตรมงคล โดยประมวลเอาองค์ความรู้จากครูบาอาจารย์ที่มีมารวบรวมไว้ อีกทั้งได้มีโอกาสเผยแพร่พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้สาธารณชนได้รับรู้แล้วก็ได้ส่งมอบให้สถานทูตไทยเผยแพร่ไปทั่วโลก พร้อมส่งไปให้โรงเรียนในห้องสมุดจังหวัดต่างๆทั่วประเทศช่วยกันศึกษาและน้อมนำเอาสิ่งที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณนี้มาเป็นหลักยึดเหนี่ยวในชีวิต เช่นเดียวกับในส่วนของผ้าไทย กรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดพิมพ์หนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสพระชนมายุ 88 พรรษา ได้ประมวลรวบรวมเกี่ยวกับภาพพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับผ้าไทย เผยแพร่ไปทั่วโลกเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจมากของผม

อีกเนื้องานที่สำคัญ ที่ได้ผลักดันคือเรื่องของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งเป็นกองทุนที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมาก อดีตที่ผ่านมาบางส่วนในสังคมอาจจะมองภาพว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เนื้อแท้ที่จริงแล้วถ้าใครได้มาสัมผัสจะเห็นเลยว่านี่เป็นโอกาสที่ดีของทุกคน ทุกครอบครัวที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยง่ายสะดวกและต้นทุนต่ำโดยอาศัยความซื่อสัตย์และความขยันหมั่นเพียร

Advertisement

ในช่วงแรกๆ ที่ผมเข้ามารับตำแหน่งอธิบดี ณ ตอนนั้นสถานการณ์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีหนี้เสียประมาณร้อยละ 53 (สำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2562) แต่พอผมมาติดตามและทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนใหม่มาตอนนี้ร้อยละ 10 แล้ว นั่นหมายความว่าหนี้เสียที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากการที่ไม่ได้ไปทำความเข้าใจเอาใจใส่ติดตาม ไม่ได้มีการเชื่อมกิจกรรมอย่างใกล้ชิดกัน แต่พอเราได้มีการพูดคุยชี้แจงให้เข้าใจตรงกันกับชาวบ้าน ว่ากองทุนนี้เป็นลมหายใจของสตรีที่ต้องดูแลรับผิดชอบลูกหลานที่บ้าน เมื่อมีโอกาสมีรายได้เพิ่มก็นำมาส่งต่อ เพราะยังมีเพื่อนผู้หญิงอีกจำนวนมากอีกหลายครัวเรือน ที่ยังต้องการโอกาสเหล่านี้อยู่ นี่จึงเรียกว่าเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งพอผมเข้ามารับผิดชอบผมก็ภูมิใจว่าเราได้ผลักดันให้เกิดความความเข้าใจว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่ใช้ช่วยเหลือด้านอาชีพให้กับสมาชิก และทุกคนมีความรับผิดชอบเพื่อให้เงินทุนนี้สามารถส่งต่อให้กับคนอื่นๆต่อไปได้อีก เป็น project financing ที่ก่อให้เกิดรายได้จากการเอาเงินไปทำเงิน ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณางบประมาณต่อไป และในอนาคตวิกฤตเศรษฐกิจของฐานรากที่มีผลกระทบวงกว้าง หากมีกองทุนหมุนเวียนตรงนี้ ก็จะมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนดีกว่านำไปทำอย่างอื่น

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่กำลังดำเนินการอยู่ พช.ของเราถือเป็นกรมฯที่มีประสบการณ์มากมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเรื่องพัฒนาชุมชนชนบทอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศ เรามีศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ผมและพี่ๆน้องๆในกรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าในโอกาสที่พวกเราจะครบ 60 ปีเต็มในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ เราจะทำให้สถาบันแห่งนี้เป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องของการพัฒนาชุมชน ผมบอกกับผู้บริหารของกรมฯตั้งแต่วันแรก ว่าถ้าเราพัฒนางานด้านการศึกษาและพัฒนาชุมชนให้กับชาวบ้านให้กับสังคมได้ดีเราสามารถขยายงานของเราเป็นมหาวิทยาลัยได้ เราจะเพิ่มพูนงานด้านวิชาการ งานวิจัยโดยเฉพาะด้านพัฒนาชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน

ขณะเดียวกันเราต้องปรับปรุงภารกิจหน้าที่ในศูนย์11 แห่งของเราให้เป็นสถานที่บริการความรู้ให้ประชาชนได้ตลอด 365 วัน ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาพวกเราได้พัฒนาศูนย์แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เรามีหน้าที่ให้บริการชาวบ้านเพื่อให้พวกเขาน้อมนำเอาองค์ความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตให้อยู่รอด โดยมีพื้นที่ต้นแบบเป็นห้องเรียนให้กับทุกคนสนใจที่จะเข้ามาฝึกปฏิบัติน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน เหมือนกับตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงกับ น.ส.ขนิษฐา จิตเจริญ (น้องเอื้อง) ที่ทำแล้วเห็นผล มีสภาพพื้นที่สวยงามเหมือนรีสอร์ท มีกินมีใช้ในพื้นที่อย่างมีความสุขกับคนในครอบครัว ที่ได้อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมสวยงาม มีหนอง มีคลองไส้ไก่สวยงาม มีป่า 5 ระดับ อากาศสดชื่น มีอาหารปลอดภัย ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง สามารถหายใจได้เต็มปอด

ดังนั้น เป้าหมายของเราจึงอยากปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสม โดยจะทำศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชนให้เป็นแลนด์มาร์คของศูนย์เรียนรู้ มีผักผลไม้มีที่นั่งเล่นโดยตั้งเป้าเราต้องให้ความรู้ทุกวันไม่ใช่เฉพาะวันที่มีคนมาฝึกอบรม โดยจะมีกิจกรรมสอนทำปุ๋ยหมัก สอนทำอาหาร สอนเลี้ยงจิ้งหรีด เรียกได้ว่า 108 อาชีพ โดยมีปราชญ์ชาวบ้านพี่น้องชาว OTOP มาเป็นภาคีเครือข่าย เป็นจิตอาสาในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นี่เป็นสิ่งที่เราอยากพัฒนายกระดับ ซึ่งเราก็ได้รับที่ดินหลวง 736 ไร่ ในจังหวัดนครนายกมาด้วย จึงตั้งใจจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้นำเอาหลักทฤษฎีใหม่มาทำให้พื้นที่ตรงนั้นอุดมสมบูรณ์สวยงาม ซึ่งผมเองก็จะติดตามงาน ดังกล่าวต่อไป แม้หลังจากนี้จะไปเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้วก็สามารถที่จะติดตามงานต่างๆ

อีกหนึ่งภารกิจ คือการเตรียมงาน “60 ปี กรมการพัฒนาชุมชน” ที่จะครบในปี พ.ศ.2565 (ก่อตั้งเมื่อวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2505) ผมเองได้เตรียมการเอาไว้เกือบหมดแล้ว เราก็คิดสร้างพระพุทธรูปประจำกรมฯ โดยที่สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงพระราชทานชื่อให้ว่า “พระพุทธพัฒนปชานาถ” ขณะนี้อยู่ในระหว่างจัดสร้าง อีกส่วนหนึ่งคือการทำหนังสือ 60 ปีโดยมีข้าราชการช่วยกันคิดชื่อเข้ามาจนมีชื่อที่เข้าตาคือ “60 ปีกรมการพัฒนาชุมชน สร้างสรรค์ชุมชน สู่ความยั่งยืน”

อธิบดี พช.ทิ้งท้ายว่า มาถึงตรงนี้ผมเองได้ย้อนมองสิ่งต่างๆที่ได้ดำเนินการมาถือว่าได้ช่วยคนในช่วงที่ยากลำบากเช่นนี้ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนก็ภาคภูมิใจที่เราได้น้อมนำพระราชดำริ นำมาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านอย่างมากจริงๆ เรียกว่าในฐานะอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนที่ 29 ไม่เสียชาติเกิด ที่ได้เข้าฝึกอบรมจิตอาสา และดำเนินโครงการซึ่งสอดรับกับนโยบาบรัฐบาลที่มุ่งขจัดความยากจน โดยส่งเสริมให้ทุกคนใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image