การเคหะฯ ลุยโครงการบ้านเช่าผู้มีรายได้น้อย-วัยเกษียณ ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน

การเคหะฯ จัดโครงการ “บ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ตอบรับความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย เน้นสร้างที่อยู่อาศัยประเภทเช่ามากกว่าประเภทขาย ในอัตราส่วน 80 ต่อ 20 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและสร้างโอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต คือ “ที่อยู่อาศัย” แต่หลายคนอาจมีข้อจำกัด เช่น เรื่องรายได้ ในการมีบ้านเป็นของตนเอง

            การเคหะแห่งชาติ (กคช.) หน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้ จึงมีความมุ่งมั่นพัฒนาและจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในชุมชนด้วยการบริหารจัดการองค์กรที่ดี มีคุณธรรม มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ด้วยเป้าหมายข้างต้น กคช. จึงได้จัดตั้งโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ราคาไม่แพง เพื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม ภายใต้ชื่อ โครงการบ้านเคหะสุขประชา และ โครงการบ้านเคหะสุขเกษม ขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง ข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการเกษียณ และผู้บุกรุกพื้นที่สาธารณะ

Advertisement

บ้านที่มาพร้อมอาชีพสำหรับผู้มีรายได้น้อย

พล.ต. ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า แนวคิดสำคัญสำหรับดำเนินโครงการบ้านเคหะสุขประชา คือ ต้องการเปลี่ยนให้คนมีรายได้น้อย มีที่อยู่อาศัย มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ พร้อมทั้งต้องการสร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนควบคู่ในแนวคิด ‘เศรษฐกิจสุขประชา’ ด้วยมิติ มีบ้าน มีอาชีพ มีรายได้ มีสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้สามารถประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของ กคช. และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นต้นแบบในการกำหนดทิศทางการดำเนินโครงการ มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง ฟื้นฟูรากฐาน พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ด้วยวิถีเกษตรอุตสาหกรรมยั่งยืน พร้อมดำเนินการเศรษฐกิจชุมชนในลักษณะคู่ขนานกัน เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ

โครงการบ้านเคหะสุขประชา ดำเนินขึ้นด้วยการนำทรัพย์สินคงเหลือมาเพิ่มมูลค่า เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ กคช. และดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 ในการจัดให้มีเคหะสถานเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย รวมถึงจัดสาธารณูปโภค สาธารณูปการ สิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย ทำนุบำรุง ปรับปรุง พัฒนา ให้เคหะดังกล่าว มีคุณภาพที่ดี ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติแห่งชาติได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยมีเป้าหมายจัดสร้าง 100,000 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568)

Advertisement

สร้างอาชีพ เสริมรายได้ สำหรับผู้อยู่อาศัย

ประธานฯ กคช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวคิดเศรษฐกิจสุขประชา มีการกำหนดรูปแบบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ภายในโครงการ ด้วยการแบ่งพื้นที่จัดประโยชน์ในโครงการออกเป็นสัดส่วน ตามแนวคิดทฤษฎีใหม่ และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน สร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยให้มีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนตามความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่

สำหรับแนวคิดเศรษฐกิจสุขประชา มีการกำหนดรูปแบบการประกอบอาชีพ 6 กลุ่มด้วยกัน คือ 1. เกษตรอินทรีย์ เช่น พืชระยะสั้น พืชล้มลุก ผลไม้ยืนต้น 2. ปศุสัตว์ เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ไข่ไก่ ไข่นกกระทา ไข่เป็ดไล่ทุ่ง ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม 3. อาชีพบริการ เช่น ดูแลผู้สูงอายุ (Elderly Day Care) สร้างงานในชุมชน กลุ่มแม่บ้าน 4. ตลาด เช่น แผงตลาด ที่จอดรถ 5. อุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น กระดาษสา ดอกไม้จันทน์ เย็บผ้า และ 6. ศูนย์การค้าปลีก-ส่ง เช่น Mini Mall คลังกระจายสินค้า โดยพื้นที่ประกอบอาชีพจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ผู้เช่าสามารถเลือกพื้นที่ที่สนใจหรือความถนัดของตนเองได้”

“ราคาเช่าบ้านเคหะสุขประชา จะเปิดให้เช่าในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดถึง 40% แบ่งเป็น 3 ขนาด คือ บ้านขนาดเล็ก เปิดให้เช่าในราคา 1,500 บาทต่อเดือน บ้านขนาดกลาง เช่าในราคา 2,000 บาทต่อเดือน และบ้านขนาดใหญ่ เช่าได้ในราคา 2,500 บาทต่อเดือน และจัดสรรพื้นที่สำหรับจอดรถแยกออกจากตัวบ้าน และมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับประกอบอาชีพให้อีกด้วย”

นำร่องแล้ว 2 โครงการ รองรับผู้อาศัยได้มากกว่า 500 ชีวิต

พล.ต. ดร.เจียรนัย กล่าวต่ออีกว่า ในปี 2564 กคช. ได้จัดทำโครงการนำร่องบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ 1. โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า ตั้งอยู่บนถนนร่มเกล้า มีบ้านที่เปิดให้เช่าจำนวน 270 หน่วย และ 2. โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง เปิดให้เช่าจำนวน 302 หน่วย รวมทั้งสิ้น 572 หน่วย

“บ้านเคหะสุขประชาทั้ง 2 โครงการ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ประชาชนผู้อยู่อาศัยสามารถเดินทางได้สะดวก ทั้งการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า หรือรถสาธารณะอื่น ๆ โดย กคช. จะประสานกับหน่วยงานที่ให้บริการรถสาธารณะเพื่อจัดทำแพ็คเกจเฉพาะให้กับผู้อยู่อาศัยในโครงการ

“นอกจากนี้ ทั้ง 2 โครงการ ทาง กคช. จะเตรียมพร้อมสร้างอาชีพ เพื่อรองรับการสร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่มั่นคงของผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการ โดยในเบื้องต้นโครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า กคช. จะจัดทำเป็นตลาดเพื่อให้ผู้เช่าสามารถสร้างรายได้จากพื้นที่ได้”

สิ่งสำคัญเมื่อมีตลาด คือ การสร้างฐานผู้บริโภค ประธานฯ กคช. ย้ำว่า “พื้นที่ที่ดำเนินโครงการโดยส่วนใหญ่ มีที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชน หรือใจกลางเมือง อีกทั้งประชาชนที่อยู่อาศัยในโครงการอื่น ๆ ของ กคช. มีมากกว่า 1,000 ชีวิต เมื่อมีการสร้างฐานการผลิตสินค้าต่าง ๆ แล้ว สินค้าจะสามารถกระจายไปยังผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ และได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดอีกด้วย”

ในปี 2564 นี้ โครงการบ้านเคหะสุขประชาดำเนินการนำร่องแล้วใน 2 แห่งคือ ร่มเกล้าและฉลองกรุง รวมทั้ง กคช. อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการอีก 13 พื้นที่ และอนาคตมีแผนจะดำเนินโครงการในทุกจังหวัดของประเทศ โดยมีเป้าหมายปีละ 20,000 หน่วย ระยะเวลา 5 ปี รวม 100,000 หน่วย

บ้านที่ออกแบบเพื่อทุกคน รองรับผู้เกษียณอายุ

นอกเหนือจากโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยแล้ว กคช. ยังดำเนินโครงการ “บ้านเคหะสุขเกษม” เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้เกษียณอายุราชการ ลูกจ้าง พนักงานของรัฐ และลูกจ้างเกษียณอายุราชการที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สามารถอยู่อาศัยในรูปแบบเช่าระยะยาว โดย กคช. ได้ดำเนินการออกแบบโครงการอาคารเช่าเพื่อผู้เกษียณอายุ ภายใต้หลักสถาปัตยกรรมเพื่อทุกคน ซึ่งคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย

ซึ่งจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ครม. มีมติเห็นชอบโครงการต้นแบบบ้านเคหะสุขเกษมของการเคหะแห่งชาติ ให้เป็นบ้านเช่าสำหรับผู้สูงอายุ ผู้เกษียณอายุ และกลุ่มที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยในช่วงบั้นปลายชีวิต โดยปรับปรุงจากทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของโครงการบ้านเอื้ออาทรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการลดภาระหนี้และเพิ่มรายได้ให้การเคหะแห่งชาติ

จัดสรรพื้นที่ส่วนกลางเอื้ออำนวยผู้สูงอายุ

ดร.เจียรนัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการนำร่องบ้านเคหะสุขเกษม บริเวณที่ดินไทย ถ.เทพารักษ์ ต.บางพลี จ.สมุทรปราการ มีลักษณะอาคารสูง 5 ชั้น จำนวนรวม 4,089 หน่วย ทุกอาคารติดตั้งลิฟต์ มีเนื้อที่รวมทั้งโครงการประมาณ 126.5 ไร่ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ขนาดพื้นที่ใช้สอยต่อหน่วยประมาณ 27 และ 33 ตารางเมตร โดยมีองค์ประกอบชุมชน พื้นที่ส่วนกลาง คลินิกอายุรกรรม ศูนย์ดูแลสุขภาพ พื้นที่สันทนาการ และพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับผู้อยู่อาศัย

“สำหรับอัตราค่าเช่าบ้านเคหะสุขเกษม กคช. จะเก็บในอัตราที่ถูกกว่าราคาท้องตลาด ซึ่งมีราคาประประหยัด เพื่อรองรับกลุ่มคนเหล่านี้ได้ โดยมีอัตราค่าเช่าประมาณ 2,500 – 3,000 บาทต่อเดือน

ส่วนคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการบ้านเคหะสุขเกษม ต้องมีสัญชาติไทย สุขภาพแข็งแรง พึ่งพาตนเองได้ อายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ณ วันจองสิทธิ หรือมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ณ วันเข้าพักอาศัย โดยอาศัยได้ไม่เกิน 4 คนต่อหน่วย และได้รับสิทธิการเช่าพักตลอดชีพ แต่ไม่สามารถโอนสิทธิให้กับบุคลอื่นและไม่ตกทอดแก่ทายาท

ทั้งนี้ในอนาคต กคช. มีเป้าหมายจะจัดตั้ง บมจ. เคหะฯ ในรูปแบบบริษัทเอกชน เพื่อดำเนินงานของ กคช. ต่อไปได้ โดยมีผู้ร่วมทุนที่เป็นกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม โดยล่าสุดมติจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 3/2564  ได้เห็นชอบในหลักการโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” ภายใต้แนวคิด “บ้านพร้อมอาชีพ” และ ให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินโครงการฯ ตามแนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ โดย กคช. เป็นหน่วยงานเจ้าของ โครงการฯ และไม่ขัดข้องหาก กคช. มีความประสงค์จะจัดตั้ง บมจ. เคหะฯ ในรูปแบบบริษัทเอกชน ซึ่งการจัดตั้งบริษัทในเครือ กคช. ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายจัดตั้ง กคช. รวมทั้ง ให้ กคช. กำกับดูแลบริษัทในเครือดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง เป้าหมายการดำเนินงาน และสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และไม่เป็นภาระกับ กคช. ในระยะยาว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image