ปลัดมหาดไทย ประชุมบูรณาการเดินหน้าขับเคลื่อนกระทรวงมหาดไทย สู่องค์กรแห่งการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก

ปลัดมหาดไทย ประชุมบูรณาการเดินหน้าขับเคลื่อนกระทรวงมหาดไทย สู่องค์กรแห่งการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน อย่างเป็นเอกภาพ

วันนี้ (10 ต.ค.64) เวลา 13:00 น. ที่ห้องประชุมอัษฎางค์ ชั้น 5 อาคารดํารงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมแผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายเปลี่ยน แก้วฤทธิ์ รองอธิบดีกรมที่ดิน นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิเชฐ โสวิทยสกุล
นายไกรลพ เหลืองอุทัย ดร.ศุภฤกษ์ โรจน์วงศ์สุริยะ นายนนทิวัฒน์ มหาคุณ นายวิทยา บุญญสิริกูล
นายวิศวัสต์ เกษร์อังกูร และ ดร.ชนินทร์ ทินนโชติ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ เป็นการประชุมเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการจัดทำแผนงานโครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2565 และปีงบประมาณต่อไป ภายใต้แผนปฏิบัติราชการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลแปลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ผ่านกลไกการบริหารราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นหน่วยบูรณาการงานของทุกกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนงานอย่างใกล้ชิดและแนบแน่นกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด ซึ่งการขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ต้องดำเนินการจัดทำแผนงานงบประมาณที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถึงระดับชาติให้เชื่อมโยงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ นโยบายรัฐบาล และความต้องการของประชาชน

Advertisement

จากนั้น เป็นการนำเสนอแผนงานงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภาพรวมกระทรวงมหาดไทย และแผนงานรายหน่วยงานของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มุ่งกำหนดภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 5 ปีข้างหน้าอย่างเชื่อมโยงกัน ชัดเจน มีจุดมุ่งหมายต้องการให้สังคมมีความก้าวหน้า สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน  โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ล้มแล้วต้องลุกให้ไว ด้วยการขับเคลื่อน 13 หมุดหมาย คือ 1) ปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม 2) พัฒนาคนให้มีความสามารถและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ 3) สร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม 4) สร้างความยั่งยืนให้ประเทศ 5) การเตรียมความพร้อมให้ประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ 6) ผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ รวมถึงการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 7) พัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล 8) สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก สร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัล 9) แก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นแบบมุ่งเป้าที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของครัวเรือนยากจน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแก่คนไทยทุกช่วงวัย 10) เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร รวมถึงการเร่งลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม 11) สร้างความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการป้องกันภัยโดยใช้แนวทางธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพในการคาดการณ์และเตือนภัย 12) สนับสนุนให้คนทุกช่วงวัยมีโอกาสพัฒนาทักษะอย่างเต็มศักยภาพ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่ และ 13) ยกระดับภาครัฐให้มีสมรรถนะสูงและคล่องตัว สามารถก้าวสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดยการขับเคลื่อนงานที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดเอกภาพและสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน สอดคล้องกับแผนทุกระดับ คือ แผนงานทั้ง 6 กรม และ 1 สำนักงานปลัดกระทรวง จะต้องเชื่อมโยงเป็นแผนงานที่มีความสอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียว มีเป้าหมาย ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายที่ชัดเจน ตอบสนองยุทธศาสตร์และแผนงานที่เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน การวางแผนแม้ว่าจะดีแค่ไหน “การลงมือทำ” และความคิด (Mindset) และความร่วมมือของบุคลากรเป็นสิ่งที่สำคัญ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานประจำ (Routine Work) เป็นไปตามอำนาจหน้าที่อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้กลไกการทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สอดรับกับพลวัตความเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบันที่มีความท้าทาย จึงจำเป็นต้องต่อยอดงานประจำในเชิงสร้างสรรค์ และมีการบูรณาการงานที่มีลักษณะเชื่อมโยงกันของแต่ละกรมให้สามารถทำงานไปด้วยกันในลักษณะการบูรณาการอย่างแท้จริง แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ต้องคิดเสมอว่า โครงการนั้น ๆ เมื่อทำแล้วประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไร ซึ่งจะเป็นแนวทางไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติราชการกระทรวงมหาดไทย ปี  2566 – 2570 ที่มีเอกภาพ ประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ในการทำงานยิ่งขึ้น

ด้าน นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการจัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ คือ ต้องจัดทำแผนงานโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 ประเด็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุงล่าสุด) 13 ด้าน 62 ประเด็น และนโยบายรัฐบาล โดยมีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และโครงสร้างของแผนงานโครงการที่ชัดเจน ตอบโจทย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนงานพื้นฐานของกระทรวงต้องชัด มีการกำหนดวิสัยทัศน์ของกรมที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันกับวิสัยทัศน์ของกระทรวง

นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ กล่าวว่า หัวใจของการขับเคลื่อนการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ คือ ต้องเตรียมการวางแผน กำกับ ติดตาม ให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ตามระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงความแม่นยำข้อกฎหมาย องค์ความรู้ และหลักการสำคัญในการทำงานของบุคลากรในส่วนกลาง เพื่อสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในการทำงานได้ นอกจากนี้ ต้องเสริมสร้างความรู้และทักษะประสบการณ์ในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การวางแผนเขียนแผนงาน/โครงการ  และเมื่อเกิดสิ่งปลูกสร้างที่มาจากงบประมาณราชการ จะต้องมีการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินให้ถูกต้องครบถ้วน

จากนั้น คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการของกระทรวงมหาดไทย เช่น 1) การบริหารจัดการข้อมูลของกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย (Big Data) เป็นโจทย์ในการบูรณาการให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์วางแผนสอดคล้องร่วมกันในระดับกระทรวง นำไปสู่การพัฒนาระดับประเทศ 2) น้อมนำพระบรมราโชวาทเพื่อสามารถเป็นนักบูรณาการขับเคลื่อนงานตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ระดับต่าง ๆ ในมิติ Area Base เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน 3) การสื่อสารองค์กรให้คนทำงานในพื้นที่มีความรับรู้เข้าใจตรงกันกับบุคลากรของส่วนกลาง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายทุกระดับ และ 4) การปรับรูปแบบการทำงานให้เป็นไปตามบริบทของสังคมปัจจุบัน เป็นต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การ Change for Good ของการทำงานที่ดี คือ “คนตัวเล็กทำให้คนตัวใหญ่ทำตาม” นั่นหมายถึง ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องเป็นบุคลากรที่ Smart สามารถนำเสนอข้อมูลที่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้สังคม เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการ  กระทรวงมหาดไทยไม่ใช่องค์กรหุ่นยนต์ แต่เป็นองค์กรที่สร้างสรรค์ ต้องช่วยกันเสนอสิ่งที่ดี (Project Idea) เพื่อส่วนรวม เพื่อผู้บังคับบัญชานำไปขับเคลื่อน  รวมทั้งน้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ไปสู่การจัดทำวิสัยทัศน์ที่ก่องานใหม่ ครอบคลุมงานเก่า เป็นองค์กรแห่งการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน อย่างเป็นเอกภาพ ประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image