ท้องทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถึงเวลาจัดโซนนิ่งแล้ว

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยากว่า 12 ล้านไร่ เป็นที่นาไม่น้อยกว่า 8 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นาที่เป็นต้นแบบการผลิตระบบใหม่มายาวนาน ไม่น้อยกว่า 50 ปี

ใหม่ตรงที่มีการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนในตอนเหนือ อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ส่งน้ำลงมา มีเขื่อนเจ้าพระยาทำหน้าที่ทดน้ำผ่านคลองหรือระบบชลประทานเข้าสู่แปลงนา พร้อมกับริเริ่มทำนาปรังในฤดูแล้ง นอกเหนือจากนาปีในฤดูฝน ทำให้เกษตรกรเริ่มทำนาปีละ 2 ครั้ง ต่อมาขยายเป็น 2 ปี 5 ครั้ง

ทำให้ทุ่งเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ผลิตข้าวที่ให้ผลผลิตเป็นกอบเป็นกำ เพราะมีน้ำสนับสนุนอย่างดี สมดังพระราชประสงค์ดั้งเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงปรารถนาให้ทุ่งเจ้าพระยาเป็นแหล่งปลูกข้าวเพื่อส่งออก

Advertisement

“แต่ก่อน กรมชลประทานสามารถกำหนดทิศทางการบริหารจัดการน้ำในทุ่งเจ้าพระยาได้ เช่น ให้ปลูกฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาได้ แต่เดี๋ยวนี้เกษตรกรเป็นฝ่ายกำหนดการปลูกเอง กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำตามความต้องการของเกษตรกร” ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลำดับเรื่องราวการปลูกข้าวกับการบริหารจัดการน้ำในทุ่งเจ้าพระยาในอดีต

สภาพที่ว่านั้นปรับเปลี่ยนไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งในแง่ของการปลูกซึ่งเกษตรกรปลูกตามที่ต้องการ ในแง่ของปริมาณความต้องการใช้น้ำก็เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก ซึ่งมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนที่สมทบในภายหลัง มีความแปรเปลี่ยนค่อนข้างสูงในทางที่มีน้ำต้นทุนน้อยลงชัดเจน

แม้ว่าข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2564 จะมีปริมาณน้ำใช้การ 6,230 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าช่วงเดียวของปี 2563 ที่ว่าแล้งจัดถึง 1,329 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ก็เป็นช่วงปลายฤดูฝนแล้ว

ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำในทุกกิจกรรมโดยรวม 11,739 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นอย่างน้อย

สถานการณ์น้ำออกจะเสี่ยงต่อภัยแล้งในฤดูแล้งได้

“ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงมาก ฝนมาบ้าง ไม่มาบ้าง แต่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ ไม่ว่าน้ำน้อย หรือน้ำหลากท่วม ต้องบริหารแบบทางสายกลาง น้ำมากก็ได้ น้ำน้อยก็ต้องยังชีพได้” ดร.สุรสีห์ กล่าว

ทางสายกลาง เป็นกรอบความคิดที่น่าสนใจ จากแต่เดิมที่มุ่งจัดหาน้ำตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเดียว ในขณะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไม่เป็นใจ เป็นการยอมรับข้อจำกัดของปริมาณฝนและน้ำต้นทุนที่จะใช้บริหารจัดการ ณ สถานการณ์นั้นมากขึ้น

การแปรเปลี่ยนสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดย 4 เขื่อนหลักที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนมีปริมาณน้ำน้อยต่อเนื่องเสียจนต้องคิดผันน้ำจากแม่น้ำยวมเข้ามาเติมเขื่อนภูมิพล ซึ่งอยู่ในขั้นตอนดำเนินการในขณะนี้

โครงสร้างการถือครองที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นปัญหาที่คล้ายภูเขาน้ำแข็งที่เห็นแต่ปลายยอดโผล่พ้นน้ำ เพราะจากข้อมูลการถือครองพื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีจำนวนประชากรในทะเบียน 11,334,145 คน จำนวนครัวเรือน 5,697,108 ครัวเรือน แต่คนที่ถือกรรมสิทธิในที่ดินเป็นของตัวเอง 319,123 ครัวเรือน

คิดเป็น 5.60% ของจำนวนครัวเรือนรวมทั้งหมด

ครัวเรือนที่ทำนาหรือทำการเกษตร ส่วนใหญ่จึงไม่ได้ถือครองที่ดิน แต่แปรสภาพจากผู้ถือครองมาเป็นผู้เช่านามากกว่า

“การเป็นผู้เช่า ทำให้เขาต้องพยายามใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด น้ำจะมากจะน้อยเขาก็ต้องลงมือทำนา โดยเฉพาะระยะหลัง มีการปรับระบบเช่านาใหม่จากรายปีมาเป็นรายฤดู ยิ่งทำให้เกษตรกรผู้เช่าต้องเดินหน้าทำนาอย่างเดียว ฉะนั้นการควบคุมการผลิต ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก”

ดร.สุรสีห์  กล่าวว่า ในที่สุดแล้ว รัฐบาลอาจต้องงัดเอามาตรการกำหนดพื้นที่เหมาะสมในการทำนา หรือโซนนิ่ง (Zoning) โดยไม่เสี่ยงต่อความมั่นคงของปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้การบริหารน้ำกับภาคการผลิตข้าวเดินไปด้วยกันได้ โดยไม่ขาดๆ เกินๆ อย่างในปัจจุบัน

การดำเนินการโซนนิ่ง ในชั้นแรกอาจยุ่งยากมาก เพราะมีคนเห็นด้วยและคนต่อต้าน ท้ายที่สุดในระยะยาวจะเป็นเครื่องมือควบคุมในการบริหารน้ำและการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ดีทั้งเรื่องน้ำและการผลิต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image