อ.ยักษ์ เยือน ! “โคก หนอง นา พช. วังอ้อโมเดล” จ.อุบลราชธานี ชูแนวพระราชดำริ บันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง

อ.ยักษ์ เยือน! “โคก หนอง นา พช. วังอ้อโมเดล” จ.อุบลราชธานี ชูแนวพระราชดำริ บันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง พร้อมชื่นชมการพัฒนาพื้นที่ตามหลัก “บวร” สู่ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมให้กำลังใจเครือข่าย 7 ภาคี ตลอดจนผู้บริหาร ครู นักเรียน และทีมวิทยากรปูทะเลย์ป่าดงใหญ่วังอ้อ ซึ่งเข้ารับการฝึกอบรมโรงเรียนอารยะเกษตร ภาคอีสาน ระหว่าง วันที่ 14-18 ตุลาคม 2564 ณ ศูนย์พุทธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

โดยได้รับ ความเมตตาจาก เจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงพระนักพัฒนาผู้ให้การสนับสนุนการพัฒนาแปลง โคก หนอง นา พช. “ชาววัง คลังยา และอาหาร” ตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ

Advertisement

โอกาสนี้ เจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส ได้ให้ข้อมูลพื้นที่ พร้อมเปิดเผยว่า “โคก หนอง นา พช. ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงของชีวิต โดยมีพลัง “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขื่องใน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ตลอดจนผู้นำชุมชน ประชาชนจิตอาสา และพลัง 7 ภาคี ในพื้นที่ โคก หนอง นา นั้น นำมาซึ่งระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ขออนุโมทนา ต่อท่าน ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร และคณะทำงาน รวมไปถึงท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล (อาจารย์โก้) รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ (อาจารย์หน่า) ตลอดจน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นายอำเภอเขื่องใน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขื่องใน และ Earthsafe ที่สนับสนุนโคก หนอง นา ขั้นก้าวหน้า ให้กับ ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดให้ ดิน น้ำ ป่า ระบบนิเวศ คลังยา อาหาร อุดมสมบูรณ์”

ขณะที่ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ได้กราบนมัสการ เจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ พร้อมพบปะและกล่าวกับผู้เข้ารับการอบรมว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงทุ่มเทพระวรกาย กำลังทุนทรัพย์ และเวลาส่วนใหญ่ไปกับการพัฒนาค้นคว้าและทดลองสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ทำนาข้าว ปรับปรุงดินและน้ำ ปลูกป่า ปลูกพืชสมุนไพร วิจัยเรื่องพลังงาน และเทคโนโลยีอีกมากมายที่ทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ท่านบอกว่าบรรพบุรุษเรารู้ว่าตรงไหนควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร นั่นคือทำตามฤดูกาล และไม่ได้อยากให้เราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ไม่ได้อยากให้รวยแบบนั้นเพราะมันไม่มีความสุข แต่อยากให้พัฒนาแบบอะลุ่มอล่วย โดยใช้หลักเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง หยุดพึ่งพาชาติตะวันตก แต่หันกลับมาใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้านที่เคยสืบทอดมาเป็นเกษตรยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย”

Advertisement

“พระองค์ท่านทรงสอนและให้มาเป็นหลักการ แต่เราต้องมาฝึกทำจนรู้ทักษะ ยิ่งทำยิ่งเพิ่มองค์ความรู้ให้ตัวเอง ที่ผมทึ่งและศรัทธาที่สุดคือพระองค์ท่านไม่เคยทรงทำเพื่อตัวเองเลย แต่ทรงทำเพื่อคนอื่นตลอด หลังพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้ว ผมบอกได้เลยว่างานหนักขึ้น แม้ผมจะเศร้าไม่ต่างจากคนอื่น แต่ก็ต้องพลิกให้เป็นพลัง ดึงจิตมาเกาะกับงานที่รัก เร่งสร้างประโยชน์และความดีตามรอยพ่อ เผยแพร่แนวปรัชญาของพ่อให้คนได้นำไปใช้ ถ้าประเทศไทยผสมระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมได้ การท่องเที่ยวก็ตาม ถึงวันนั้นทั่วโลกก็จะมาศึกษากับเรา”

“ส่วนตัวผม เริ่มทดลองจากพื้นที่ 3 ไร่ ขยายเป็น 5 ไร่ และกลายเป็นร้อยไร่ โดยเปลี่ยนเล้าหมูให้เป็นห้องเรียนสำหรับอบรมแบบ Active Learning หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีจิตวิญญาณ ด้วยการเริ่มจากความเข้าใจและท่องให้ได้เหมือนศีลห้าที่เราคุ้นเคย แล้วจึงแปลงทฤษฎีที่ท่องนี้ไปปฏิบัติด้วยความอดทน ไม่ข้ามขั้นตอน มีคุณธรรมต่อการทำงาน และเมื่อได้ลงมือทำก็จะพบนวัตกรรม ความรู้ และทักษะใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ สุดท้ายคือใช้แนวทางบริหารแบบคนจนที่ไม่ลงทุนมากจนเกินตัว โดยอาจารย์ยังได้แปลงเป็นทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียงไว้ว่า “เราต้องเริ่มจากเศรษฐกิจ 4 พอ เป็นขั้นพื้นฐานก่อน คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น แล้วถึงขึ้นไปขั้นที่ 5 สู่การทำบุญทำทาน กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ครูบาอาจารย์ ขั้นที่ 6 แม้ไม่ใช่ครูก็แบ่งปันและให้ทานได้ ขั้นที่ 7 ใช้ภูมิปัญญานำสิ่งที่เหลือใช้ไปแปรรูปสำหรับไว้ใช้ยามจำเป็น อย่างป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างก็สามารถแปรรูปเก็บรักษาได้ ขั้นที่ 8 พอรู้จักเก็บได้ก็ไม่ต้องซื้อ เราจึงนำไปค้าขายต่อได้ และสุดท้ายขั้นที่ 9 พอร่ำรวยเราก็บอกต่อเป็นเครือข่ายบุญ ทำเงินไปใช้อย่างสร้างสรรค์ หรือสร้างมูลนิธิเพื่อสอนคนอื่นต่อไปอีก ผมเชื่อว่าทุกอาชีพสามารถแปลงปรัชญาพอเพียงเป็นบันไดขั้นต่างๆ ของการเติบโตไปในแนวทางของตัวเองได้ แม้แต่การปรับไปใช้กับชีวิตในเมืองด้วยรูปแบบสวนแนวตั้งก็เช่นเดียวกัน” อ.ยักษ์ กล่าวปิดท้าย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image