THG เปิดทิศทางธุรกิจ ‘เฮลท์แคร์’ เน้นดิจิทัล-หาเป้าหมายใหม่ ปั้นไทยเป็นเมดิคัล ฮับ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเฮลท์แคร์ (Health care) ในประเทศไทย กลายเป็นกิจการดาวรุ่งที่นักลงทุนกำลังจับตามองด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไปจนถึงการผลักดันของภาครัฐ ที่หวังปั้นให้ประเทศไทยกลายเป็นเมดิคัล ฮับ หรือการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของโลก

เมื่อโควิด-19 ระบาด สิ่งนี้ได้กลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจเฮลท์แคร์ประเทศไทย ซึ่งในงานสัมมนา “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ได้ฉายภาพทิศทางของธุรกิจเฮลท์แคร์จากนี้ไปให้ฟังว่า ต้องปรับตัวสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น พร้อมเปิด ‘กลุ่มเติมพลัง’ สร้างฐานเมดิคัล ทัวริซึ่ม ให้ประเทศไทย

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

‘THG’ คิดเร็วทำเร็ว ช่วยเหลือชีวิตผู้คน

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เครือโรงพยาบาลธนบุรีในฐานะด่านหน้าที่อยู่ในวงการมาร่วม 46 ปี ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสนาม มทบ.11 จำนวน 494 เตียง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 2 จำนวน 168 เตียง และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน จำนวน 177 เตียง และฮอสพิเทลอีก 10 แห่ง รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เหลือง และแดง พร้อมดึงบุคลากรวิชาชีพอื่น อาทิ สจ๊วต แอร์โฮสเตส แพทย์ พยาบาล จากคลินิกความงาม ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาช่วยทำงานในโรงพยาบาลสนาม ถือเป็นปรากฏการณ์ของพลเมืองที่ออกมาช่วยทำงานด่านหน้า

ADVERTISMENT

 “โควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราต้องคิดให้เร็วขึ้น กรณีโรงพยาบาลสนาม หรือไอซียูสนาม ของเครือธนบุรี ใช้เวลาคิดและทำเพียง 10-15 วัน เพราะหากเราช้าเพียงวันเดียวอาจหมายถึงชีวิตของผู้คนที่สูญเสียไปกว่า 300 คน ถ้าเราสามารถตัดสินใจและทำได้เร็วขึ้น นั่นหมายถึงการเซฟงบประมาณมหาศาล และหมายถึงการช่วยเหลือชีวิตผู้คนที่ประเมินค่าไม่ได้อีกมหาศาล”

‘วัคซีน’ ภูมิคุ้มกันหลักทางรอดประเทศไทย

ADVERTISMENT

สำหรับทางรอดประเทศอย่าง ‘วัคซีน’ ซึ่งเป็นคำถามคาใจของใครหลายคน นพ.ธนาธิป ให้คำตอบว่า สิ่งที่ต้องทำมากที่สุดในช่วงเวลานี้คือ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน คนไทยต้องเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นภายในและภายนอกประเทศ ขณะเดียวกัน องค์กรก็ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อแข่งขันต่อในสภาวะที่เศรษฐกิจจะตกต่ำไปอีก 3-4 ปี ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าโควิดจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจหดหายไปกว่า 10% จากปัจจัยของระยะห่างทางสังคม

สถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1.5 เมตร ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ส่งผลโดยตรงทำให้ธุรกิจบางประเภทหายไป ในทางกลับกันก็ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นเช่นกัน ในฐานะผู้ประกอบการควรปรับตัวด้วยการหานวัตกรรมใหม่ ระบบการทำงานแบบใหม่ โปรดักต์ใหม่ บริการใหม่ ที่ทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เพื่อทดแทนช่องว่างที่เกิดขึ้น ผ่านดิจิทัล แม้แต่ธุรกิจเฮลท์แคร์เองก็อาจต้องมีบริการใหม่ ๆ หรือนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ในธุรกิจและบริการมากขึ้นเช่นกัน

รีเซตธุรกิจเฮลท์แคร์ด้วยดิจิทัล

สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเองนั้น นพ.ธนาธิป เชื่อว่าต้องรีเซตระบบใหม่ ด้วยการนำเอาระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ให้มากขึ้น เพื่อความสะดวกสบายกับผู้ป่วย รวมถึงตอบโจทย์เรื่องความกังวลของผู้ป่วยโรคง่ายหรืออาการไม่หนักที่ไม่อยากมาโรงพยาบาล โดยต้องลดขั้นตอนเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงหมอได้ง่ายขึ้น ภายใต้ความปลอดภัยใหม่ที่สูงขึ้น

นพ.ธนาธิปเห็นว่า จากนี้ธุรกิจเฮลท์แคร์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ต้องปรับตัวหลายอย่างโดยเฉพาะส่วนที่เป็นบริการด่านหน้า เนื่องจากปัจจุบันคนที่อยากมาโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ป่วยจริงๆ แต่กลุ่มคนที่ก้ำกึ่ง ไม่แน่ชัดว่าป่วยจริงหรือไม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนค่อนข้างสูง อาจไม่มาโรงพยาบาล การทำธุรกิจในอนาคตจึงต้องตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ให้ได้

 ‘กลุ่มเติมพลัง’ ฐานลูกค้าใหม่ที่ THG จับตามอง

โดยปกติ การท่องเที่ยวในประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์ ส่วนอีกกลุ่มที่มีจำนวนไม่น้อยนั่นคือกลุ่มคนที่เข้ามาเพื่อรับการรักษาโรคเฉพาะทาง อาทิ มะเร็ง หัวใจ เป็นต้น ทว่าท่ามกลางตลาดขนาดใหญ่ของทั้ง 2 กลุ่มยังมีช่องว่างระหว่างกลาง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น ‘กลุ่มเติมพลัง’ โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เปราะบางทางร่างกาย แต่ต้องการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย เพื่อฟื้นฟูสุขภาพบางประการ อาทิ ผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่เติบโตมากนักในประเทศไทย

นพ.ธนาธิป กล่าวเสริมว่า ภายในระยะเวลา 2-3 ปีหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ผู้คนจะมีความเครียดสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เคยเป็นโควิด และจะยิ่งมีผลมาก เพราะต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดความเครียดสะสม ซึ่งที่ผ่านมา เครือธนบุรีได้มีการตั้งโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มเมดิคัล ทัวริซึ่ม ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เน้นการเติมพลัง ฟื้นฟูร่างกายในรีสอร์ต ผ่านการรักษาในลักษณะบำบัด ที่ให้ความรู้สึกเหมือนทั้งรักษาและเที่ยวพักผ่อนไปในเวลาเดียวกัน

พร้อมกันนี้ นพ.ธนาธิปยังกล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือในอนาคตในตอนท้ายว่า

“ทุกอย่างมีวาระของมัน มีโรคระบาด เดี๋ยวมันก็หมดไป คำถามคือหมดแล้วต้องทำอย่างไร เราต้องเรียกความเชื่อมั่นให้ได้ไวที่สุด ตอนนี้อาจเป็นช่วงรีเซตธุรกิจบริการทางการแพทย์ อนาคตไทยอาจจะไปยืนอยู่ที่เลเวลใหม่ของเมดิคัล ทัวริซึ่ม กลุ่มหนักๆ ที่บินมารักษาโรคเฉพาะทางยังมีอยู่ กลุ่มเบิร์น พลัง ชอบการผจญภัย อาจลดน้อยลงหน่อย ยุคโพสต์โควิด หากร่วมมือกันในหลายภาคส่วนทำพื้นที่สำหรับเจาะกลุ่มเติมพลัง เชื่อว่าจะเป็นทาร์เก็ตใหม่ขนาดใหญ่ของเมดิคัล ทัวริซึ่มของประเทศได้”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image