เปิดมุมมอง “ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล” กรรมการการเคหะแห่งชาติและประธานกรรมการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การเคหะแห่งชาติ

เปิดมุมมอง “ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล” กรรมการการเคหะแห่งชาติและประธานกรรมการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การเคหะแห่งชาติ ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย สร้าง “ชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน” (SCC) ส่งต่อ “5 คีย์เวิร์ด – SCC Index” ต่อยอดเพิ่มความเข้มแข็งชุมชน 

“การเคหะแห่งชาติ” กับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งในมิติที่การเคหะแห่งชาติดำเนินการอย่างเข้มข้น ตอบรับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป รวมถึงประเทศไทยซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทยที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ได้ขับเคลื่อนในการสร้าง “ชุมชนที่อยู่อาศัย” ให้ยั่งยืน น่าอยู่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่คือ ยกระดับ “คุณภาพชีวิต” อย่างยั่งยืน

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการการเคหะแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การเคหะแห่งชาติ อีกหนึ่งบทบาทคือ รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะกรรมการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม มีหน้าที่กำกับดูแลในมิติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครอบคลุมไปถึงการบริหารจัดการนวัตกรรม องค์ความรู้ และเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล

Advertisement

ด้วยความเป็นการเคหะแห่งชาติที่ทำงานในเรื่องการดูแลสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้น
ทุกกิจกรรม หรือทุกพื้นฐานของความคิดจึงเป็น CSR อยู่แล้ว แต่ถ้าจะเพิ่มเติมเข้าไป ตนมองว่าการที่โลกเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว ดังนั้นเราจะพูดว่าทำแบบเดิม ซึ่งมันก็ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเพิ่มอีก 2 มิติ เข้าไปคือ มิติในเรื่อง Smart และ Sustainable ด้วยดิจิทัล เทคโนโลยี จะสร้างโอกาสในการหารายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาชุมชนได้อีกมาก

“เรื่อง Smart ด้วยความเป็นการเคหะแห่งชาติ ที่ควรดูแลชุมชนก็คือ หาอะไรที่ Smarter เพราะจริง ๆ ชุมชนอาจจะมีข้อจำกัดในการลงทุน ถ้าเราสามารถที่จะใส่ความสมาร์ทมากขึ้น ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยชุมชนได้ หรือในเรื่อง Sustainable การเคหะแห่งชาติมีหน้าที่ต้องดูแลลูกบ้าน ชุมชนหลากหลาย ก็ควรนำเรื่องที่ชุมชนอยากได้ และชวนผู้อยู่อาศัยในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นเจ้าของที่ยั่งยืน” ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว

นำมาสู่เป้าหมายการสร้าง Smart & Sustainable Community (SSC) ชุมชนที่น่าอยู่ อัจฉริยะ และยั่งยืน เรียกสั้น ๆ ว่า SSC ที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนการเคหะแห่งชาติในโครงการอื่น ๆ มาศึกษาดูงาน โดยการใส่เรื่องต่างๆ ทั้งหมด ยกตัวอย่าง การจัดการขยะ การจัดการน้ำเสีย การดูแลทางด้านสุขภาพ วิเคราะห์เรื่อง Health Literacy รวมถึงช่วยวิเคราะห์ว่า ในชุมชนมีของดีอะไรที่จะนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

Advertisement

สำหรับสิ่งที่การเคหะแห่งชาติ จะดำเนินการในปีหน้า ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวว่า แยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 อยากชี้ให้เห็นเรื่องของ “คีย์เวิร์ด” ที่อยากจะส่งต่อสิ่งนี้ ในปี 2564 ต่อเนื่องปี 2565 มีอยู่ 5 คำ

คำที่ 1 “การมีส่วนร่วมต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพราะว่าการทำงานที่จะสร้าง SSC มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้โดยที่เราปรับอย่างเดียว คงต้องพยายามสร้างการมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

คำที่ 2 “ศิลปวัฒนธรรม” ประเพณี ตนมีความเชื่อว่าการจะทำให้ชุมชนนั้นอัจฉริยะ น่าอยู่ ยั่งยืนได้ ห้ามทิ้งภูมิปัญญา หรือสิ่งดี ๆ ที่อยู่ในแต่ละชุมชน เราไม่สามารถตัดเสื้อชุดเดียว One Size Fit All ได้ คงต้องคำนึงถึงรากฐาน ประเพณี วัฒนธรรมที่เขามีมา และเอาสิ่งนี้มาสอดแทรกใส่เข้าไป

คำที่ 3 “ความครอบคลุม” เพราะว่าโครงการที่การเคหะแห่งชาติจะทำ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของ CSR หรือในมิติอื่น ๆ อาจต้องคิดว่า เมื่อใส่ลงไปแล้วทำให้คนที่อยู่ในชุมชนแทบทั้งหมดนั้นได้ประโยชน์หรือไม่ ไม่ใช่ว่าใส่ลงไปแล้วก่อให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำ” หรือก่อให้เกิดปัญหาหลังจากนั้น เพราะมีกรณีศึกษาจำนวนมาก เมื่อมีเงินบริจาค มีเงิน CSR บางอย่างเข้ามา ถ้าไม่ครอบคลุมก็จะก่อให้เกิดปัญหาภายในชุมชนได้

คำที่ 4 “นวัตกรรม” ซึ่งต้องมาคู่กับองค์ความรู้ คือ การจัดการนวัตกรรม และการจัดการองค์ความรู้ เพราะเมื่อมีการจัดการอย่างมีนวัตกรรม เราจะได้สิ่งใหม่ที่ “ดี” และคนอยากใช้ ซึ่งต้องมีการเก็บ Archive รวมถึงสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็น “แอมบาสเดอร์” ในการส่งต่อองค์ความรู้ และแนวคิดนวัตกรรมต่อไปในวงกว้าง หากกลไกเหล่านี้เดินหน้าได้จริง ก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยตัวมันเอง

คำที่ 5 “BCG (Bio-Circular-Green Economy)” โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นนโยบายสำคัญที่อยากจะฝากและส่งต่อกันไป คือ การเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไก BCG เพราะว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีทรัพยากร ทรัพย์ในดิน สินในน้ำที่ซ่อนอยู่มาก ถ้าเราสามารถใช้กลไก BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นประเด็นที่ พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ส่งต่อมายังทุกรัฐวิสาหกิจ ให้มีการนำสิ่งนี้ส่งต่อ ซึ่งงาน CSR หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่การเคหะแห่งชาติจะทำหลังจากนี้ก็จะต้องส่งต่อเรื่องนี้ไปด้วย

“ดังนั้น จะมี 5 คำใหญ่ ๆ เพื่อจะใช้เป็นคีย์เวิร์ดในการประกอบร่างและเซ็ตติ้งโครงการที่เกิดขึ้น ซึ่งโครงการที่น่าจะเกิดขึ้นอาจเป็นการขยายผลจากโครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) ที่เป็นต้นแบบ SSC โดยขยายผลต้นแบบชุมชนที่จำนวนเพิ่มขึ้น มีความหลากหลาย มีความแตกต่างในเชิงศิลปวัฒนธรรม ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น” ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว

นอกจากเรื่อง “คีย์เวิร์ด” แล้ว สิ่งที่อยากจะส่งต่อในปี 2564 ต่อเนื่องปี 2565 อีก 1 โครงการที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ คือ นำตัวชี้วัด “SSC Index” ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 48 เรื่อง ไปประยุกต์ใช้ และชี้วัดการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ มีการให้คะแนน และมีการลงพื้นที่ไปประเมินจริง ๆ จะทำให้ทุกชุมชนที่การเคหะแห่งชาติดูแล หรือมีความเกี่ยวข้อง
เห็นภาพเดียวกัน ซึ่งเป็นการต่อยอดจากตัวชี้วัดเรื่อง “ชุมชนเข้มแข็ง” ของการเคหะแห่งชาติ ตอบโจทย์สังคมและกระแสโลกที่เปลี่ยนไป ไม่เพียงชุมชนเข้มแข็ง แต่ต้อง Smarter และ Sustainable มากขึ้น

“การเคหะแห่งชาติมีโอกาสและมีคุณค่าที่อยู่ในตัวองค์กรสูงมาก ในการช่วยดูแลสังคมและพี่น้องประชาชนคนไทย ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งจุดแข็งยังเป็นตัวเชื่อมสำคัญ ที่เชื่อมและส่งต่อนโยบายภาครัฐหรือสิ่งที่ชุมชนต้องการ ให้ 2 ส่วนนี้มาเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมจากบนลงล่าง จากภาครัฐมาสู่ชุมชน หรือเชื่อมจากล่างขึ้นบน จากชุมชนขึ้นไปสู่เรื่องของงบประมาณ หรือแม้กระทั่งเชื่อมในเรื่องของการส่งต่อ สร้าง
อิมแพคในวงกว้าง” ประธานกรรมการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การเคหะแห่งชาติ กล่าว

มากกว่านั้น อีกหนึ่งจุดแข็งที่ “การเคหะแห่งชาติ” มีซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก คือ การได้ทุนสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) ซึ่งน้อยองค์กรในประเทศไทยที่จะได้รับทุนดังกล่าว ถือเป็นการเปิดโอกาสที่ดี และตอบโจทย์เรื่อง Smart & Sustainable ด้วย ที่สำคัญยังตอบโจทย์สิ่งที่นายกรัฐมนตรีเพิ่งไปประกาศล่าสุดในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP26 ยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2050 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ได้ในปี 2065

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เชื่อว่า หากการเคหะแห่งชาติ ดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ จะสามารถสร้างอิมแพ็คได้อย่างมหาศาล ด้วยจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จะเป็นการส่งต่อ BCG ที่มีพลัง และหากสามารถใช้กลไก BCG จนก่อให้เกิด “กองทุนจากชุมชน” และต่อยอดเป็นทุนการศึกษาให้กับน้องๆ เยาวชนในชุมชน ใช้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศอย่าง MIT หรือมหาวิทยาลัยชิงหัว ก่อนจะกลับมาทำงานในชุมชน เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ หรือเข้าไปทำงานที่การเคหะแห่งชาติ ทั้งหมดนี้จะเป็นการส่งต่อที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง

“ผมมองว่าถ้าประเทศอยากจะเดินไปถึง Net Zero Emission  หรืออยากจะประสบความสำเร็จในการส่งต่อ BCG  ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ การเคหะแห่งชาติ จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยได้ทั้งผู้มีรายได้น้อย และช่วยประเทศพัฒนาไปควบคู่กัน” ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image