คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และหัวหน้าภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรฯ ได้รับเชิญเข้าร่วมเสวนาด้านยางพารา ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 จัดโดย วช.

ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ วันที่ 24 พฤษจิกายน พ.ศ.2564
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเชิญจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นวิทยากรร่วมเสวนา เรื่องการศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อการใช้ประโยชน์จากการเกษตรสู่อุตสาหกรรมยางพารา ร่วมกับวิทยากรจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นผู้ดำเนินรายการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ได้กล่าวถึงมุมมองด้านการศึกษาต่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยต้องให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากำลังคนทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาคอุตสาหกรรม การอบรมบุคลากร Upskill-Reskill และการทำวิจัยร่วมกัน (โครงการ Sandbox) เป็นต้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือและสามารถแก้ไขโจทย์ หรือปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้ เป็นการสนับสนุนให้นิสิตและนักศึกษามีโอกาสเข้าไปทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม จัดเป็นบทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัยหรือภาคการศึกษาที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยได้ อีกทั้งทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีโครงการพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการสรุปประเด็นยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี และแนวทางการดำเนินงานร่วมกันของ วช. และ กยท. โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ หัวหน้าสำนักงานบูรณาการวิจัยมุ่งเป้า กลุ่มเรื่องยางพารา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และหัวหน้าภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กยท. ทั้งนี้ หัวหน้าภาควิชาวัสดุศาสตร์ได้อธิบายให้ทราบถึงความหมายและวัตถุประสงค์ของทุนวิจัยมุ่งเป้าที่ต้องเป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว เพื่อลด Time to market และสามารถนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งทาง วช. มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการทุนวิจัยด้านยางพาราได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการจากหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย สมาคมยางพาราไทย สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย สมาคมถุงมือยางไทย รวมถึงคณาจารย์และนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น โดยนักวิจัยจัดเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนงานวิจัยให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน จึงควรสนับสนุนนักวิจัยให้มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง วช. และ กยท. โดยได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านยางพารา การจัดประชุมวิชาการและการดำเนินงานร่วมกัน และจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยยางพาราแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี อีกทั้งผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุน ดังนั้นในการประชุมวันนี้จึงเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่าง วช. ภายใต้กระทรวง อว. และ กยท. ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีความเข้มแข็ง ก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนโดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมช่วยในการขับเคลื่อนภายใต้นโยบายของรัฐบาลได้ต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image