กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งผลักดันนโยบาย BCG มุ่งสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเป้ายกระดับผู้ประกอบกิจการโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวทั่วประเทศภายในปี 2568 และจัดพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวประจำปี 2564 รางวัลแห่งความยั่งยืน เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่สถานประกอบการที่มุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้นำนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ของรัฐบาล เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการเกิดของเสียโดยจัดการใช้ทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เพื่อกำหนดแนวทางและบูรณาการการจัดทำแผนงานโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นไปที่ 4 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่ 1.การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงาน และยกระดับรายได้ของประชากร 2.การสร้างความมั่นคงทางสังคม สร้างความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และพลังงานในทุกระดับ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต 3.การสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดของเสีย ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม 4.การตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสีเขียวผ่านการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เพื่อขับเคลื่อนสถานประกอบการในประเทศไทยยกระดับเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การใช้การหมุนเวียนทรัพยากร และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยตั้งเป้าหมายให้ในปี พ.ศ. 2565 มีสถานประกอบการอุตสาหกรรม 60% ได้รับ การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และสามารถสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.22 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 เทียบเท่า)
ด้านนายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เสริมว่า กรอ. มีพันธกิจในการกำกับดูแลธุรกิจอุตสาหกรรมให้มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้เริ่มโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งสิ้น ประมาณ 45,433 ใบรับรอง และในปี 2564 มีสถานประกอบการ ได้รับการถ่ายทอดความรู้และขอการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวเพิ่มขึ้นจำนวน 3,422 ราย โดยมีเป้าหมายในปี 2568 โรงงานทั่วประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมดและในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 กรอ. ได้จัดพิธีมอบรางวัลยกย่องผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 4-5 ประจำปี พ.ศ. 2563 และ 2564 จำนวนทั้งสิ้น 268 ราย ประกอบด้วยรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 236 ราย และรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) จำนวน 32 ราย ที่โรงแรมเซ็นทารา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการฯ กรุงเทพมหานคร
สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่ระดับที่ 2 ขึ้นไป สามารถนำตราสัญลักษณ์ Green Industry ไปแสดงบนผลิตภัณฑ์ และสามารถขอเครื่องหมาย Thailand Trust Mark จากกระทรวงพาณิชย์ได้ (ต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามกำหนด) ส่วนใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 และ 5 จะได้รับโล่รางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว และได้รับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เทียบเท่าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้บำบัดและกำจัดสิ่งปฏิกูลจะได้รับการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลออกนอกบริเวณโรงงานแบบอัตโนมัติ (ต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามกำหนด) เป็นต้น