นศ.วิศวะ ม.เกษมบัณฑิตผุดไอเดียรังสรรค์หุ่นยนต์ดับเพลิง หวังเซพการสูญเสียนักผจญเพลิง

ดร.เสนีย์ สุวรรณดี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่าจากกรณีปรากฎการณ์เพลิงไหม้ที่สร้างความสูญเสียให้กับสังคมทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้งส่งผลให้นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตซึ่งประกอบด้วยนายนิลปัทม์ นีละไพจิตร นายนฤดล มานมนูญ นายณัฐชนก วงษ์หวังจันทร์ นายนัทวุธ นีละไพจิตรนายนวมินทร์ วันหมัด และนายวิชชากร ศิริคูสุวรรณ เกิดแรงบันดาลใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉพาะการเซพชีวิตหรือช่วยเหลือนักผจญเพลิงในขณะปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงอันตรายจึงผุดไอเดียจัดทำโครงงานวิศวกรรมด้วยการสร้างนวัตกรรมหุ่นดับเพลิง (Fire Fighting Robot) สำหรับการเข้าพื้นที่เกิดเหตุที่มีความเสี่ยงและอันตรายต่อชีวิตสูง สำหรับประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถควบคุมการทำงานด้วยรีโมทในระยะไกลถึง1กิโลเมตรและยังฉีดน้ำได้สูงจากพื้นถึง 20 เมตรมีแรงขับน้ำตามมาตรฐานหัวฉีดของรถดับเพลิงทั่วไปโดยใช้ล้อตีนตะขาบขับเคลื่อนในการเข้าถึงพื้นที่ได้ทุกสภาวการณ์

ดร.เสนีย์กล่าวต่อไปว่าล่าสุดจากการทดสอบประสิทธิภาพและสมรรถนะของหุ่นยนต์ดับเพลิงตัวนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยของสถานีดับเพลิงลาดกระบัง กรุงเทพมหานครต่างได้รับการยืนยันว่าหุ่นยนต์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงสามารถทำงานได้เช่นเดียวกับการดำเนินการโดยระบบสายฉีดจากรถดับเพลิงที่พนักงานต้องถือเข้าไปผจญเหตุในพื้นที่โดยตรง อย่างไรก็ตามตนเองมองว่าวันนี้ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านการผจญเพลิงในบ้านเราจะไม่ใช่เรื่องใหม่ก็ตามแต่หากต้องมีการนำเข้าอุปกรณ์เหล่านี้มาจากต่างประเทศหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติตลอดจนการแบ่งเบางบประมาณแผ่นดินในอนาคตอันใกล้นี้คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตจะได้มอบหุ่นยนต์ซึ่งเป็นผลงานหรือนวัตกรชิ้นเอกของนักศึกษาให้กับหน่วยงานดับเพลิงเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติการและกู้ภัยต่อไป และเหนืออื่นใดในนามของมหาวิทยาลัยขอถือโอกาสนี้แสดงความชื่นชมกับนักศึกษาทั้ง 6 คนตลอดจนอาจารย์ที่ปรึกษาที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและจากผลงานดังกล่าวถือได้ว่าสอดคล้องกับแนวนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรมตลอดจนรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ผลงานวิจัยเป็นหนึ่งในมิติที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงภายใต้แนวคิดงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image