“การเคหะแห่งชาติ” ผนึก สจล. นำผลงานวิจัย “เทคโนโลยี” ด้านพลังงาน น้ำ กำจัดขยะมูลฝอย

“การเคหะแห่งชาติ” ผนึก สจล. นำผลงานวิจัย “เทคโนโลยี” ด้านพลังงาน น้ำ กำจัดขยะมูลฝอย ประยุกต์ใช้ในโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ก้าวสู่ Green Community

กิจกรรมการเสวนาทางวิชาการโดยการเคหะแห่งชาติร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อนำเสนอและต่อยอดผลงานวิจัย ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในหัวข้อวิจัย “แนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านพลังงาน น้ำและการกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่อยู่อาศัย ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง” จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ณ สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ นำเสนอผลงานวิจัยโดย ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ จินต์จันทรวงศ์ ผศ.ปรัศณี เมฆศรีสวัสดิ์ และนายอภิชาติ โมฬีชาติ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

งานวิจัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและที่มาของปัญหาในชุมชนที่อยู่อาศัยต่างๆ ทั้งด้านพลังงาน น้ำ และการกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งล้วนอยู่ในปริมาณสูง จากอัตราการเกิดขยะมูลฝอย 113 กิโลกรัม/คน/วัน และด้านพลังงาน โดยครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 21,157 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 2,135 บาท หรือคิดเป็น 10.1 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่นเดียวกับเรื่องน้ำ ที่มีแนวโน้มความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยรวมประมาณ 82.75 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี

Advertisement

งานวิจัยนี้จึงมุ่งออกแบบที่อยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานน้ำ และการกำจัดขยะมูลฝอยที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย โดยทำการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยและชุมชน ตลอดจนแนวทางการนำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ได้จากการออกแบบที่อยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานน้ำ และการกำจัดขยะมูลฝอยนำไปประยุกต์ใช้ในโครงการ ผ่านการลงไปทดลองใช้จริงเพื่อเป็น “กรณีศึกษา” ในโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ทั้งของการเคหะแห่งชาติ และในโครงการอื่นๆ

ด้านการบริหารจัดการพลังงาน อาทิ การวางผังอาคารตามทิศเหนือ-ใต้ และการเปลี่ยนการใช้หลอด LED ทั้งโครงการ ช่วยลดค่าไฟได้ 50%, การใช้คอนกรีตมวลเบา, การใช้ฉนวนกันความร้อน, ช่องระบายอากาศ, ช่องแสงธรรมชาติ และ Solar Cell ใช้กับระบบบำบัดน้ำเสีย โดยมีแนวคิดในการออกแบบอาคารเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ แนวคิดเบื้องต้นใช้หลักการออกแบบที่เข้าใจและพึ่งพาธรรมชาติ (Passive Design) และการเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ประกอบอาคาร และงานระบบที่ประหยัดพลังงาน

Advertisement

ด้านการบริหารจัดการน้ำ อาทิ การปลูกต้นไม้ที่ดูแลง่าย, ใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ, รณรงค์การประหยัดน้ำ, การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และด้านการบริหารจัดการขยะ ทำตู้อัดขยะ หรือถังขยะคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับขยะจำพวกกระดาษ ขวดน้ำพลาสติก ถุง กระป๋องสี กระป๋องน้ำอัดลม ฯลฯ ที่ต้องการลดปริมาตร เพื่อการใช้พื้นที่ในการจัดเก็บน้อยลงและสามารถทำให้การขนส่งง่ายยิ่งขึ้น และไม่มีกลิ่นเหม็นอีกด้วย เป็นต้น

ร.ท.ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน สิ่งที่การเคหะแห่งชาติ ดำเนินการ ถือเป็น “หมู่บ้านต้นแบบ” ให้กับสังคม และเป็นพื้นที่วิจัยเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ของหมู่บ้านเอกชนทุกโครงการ ซึ่งจำเป็นต้องหานักวิชาการมาดำเนินการ ช่วยในการออกแบบหรือศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ได้มีโอกาสอยู่บ้าน Green ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเคหะแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องของวัสดุก่อสร้างประหยัดพลังงาน พร้อมทั้งหาวิธีการเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนในเรื่องนี้ได้

ทั้งนี้ ประชาชนที่อยู่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ เป็นชุมชนผู้มีรายได้น้อย สิ่งที่การเคหะแห่งชาติ  ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโครงการ ECO – VILLAGE ที่มุ่งส่งเสริมการอยู่อาศัยอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ และสนับสนุนให้เกิดเป็น “ชุมชนสีเขียว” หรือ Green community ซึ่งขณะนั้นการเคหะแห่งชาติ ได้นำงานวิจัยโครงการ ECO – VILLAGE ไปประยุกต์ใช้ในชุมชน ซึ่งได้รับผลลัพธ์ที่ดี จนมาสู่งานวิจัยล่าสุดในครั้งนี้ โดยปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้นำเทคโนโลยีบางเรื่องไปประยุกต์ใช้ในโครงการต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อีกเป้าหมายสำคัญของการเคหะแห่งชาติ คือ การมุ่งสู่ Digital Transformation ตามกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป โดยมีแผนทำแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ แพลตฟอร์มลงทะเบียนสร้างอาชีพ ตามนโยบายรัฐบาล หรือแพลตฟอร์มที่สามารถแสดงค่าคุณภาพอากาศ ปริมาณการใช้พลังงาน  ค่าคุณภาพและปริมาณน้ำเสีย การรวมถึงการกำจัดขยะในชุมชน เพื่อนำไปแสดงให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเห็นว่า เขาจำเป็นต้องมี “ส่วนร่วม” ในการแก้ปัญหาชุมชนของเขาเอง

“เท่าที่ผมดูงานวิจัย เรื่องพลังงาน รวมถึงเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย และน้ำเสียในชุมชน ผมว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว และจะเดินกันต่อไป พร้อมนำผลงานวิจัยในครั้งนี้ไปประยุกตใช้ ซึ่งการเคหะแห่งชาติ พยายามมุ่งมั่นในการนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาให้ประชาชนได้ใช้  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันชั้นนำ ทางคณาจารย์ทุกคณะ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาช่วยการเคหะแห่งชาติในการขับเคลื่อนให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติพักอาศัยบ้านที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สิ่งที่ได้จากงานวิจัยถือเป็นประโยชน์อย่างมาก จากนี้จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของการเคหะแห่งชาติออกแบบเพิ่มเติม เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติต่อไป”
ร.ท.ชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image