ในภาวะการณ์แพร่ระบาดของ COVID 19 ผู้ประกอบการ OTOP หรือ SMEs ขนาดเล็ก มีออเดอร์หาย 30 – 50 % ของค้างสต๊อกเพียบ ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากเป็นอย่างมาก แม้สถานการณ์ COVID 19 เริ่มคลี่คลาย แต่เศรษฐกิจของประเทศไทยก็ยังถดถอย GDP ติดลบ 0.3 % (คาดการณ์ โดย สศช. ข้อมูลวันที่ 14 พ.ย. 2564) นอกจากนั้น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศถดถอย
จากปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในภูมิภาคตะวันตก จัดโครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นเพื่อขยายตลาดภูมิปัญญา (University as a Marketplace) ซึ่งเป็นโครงการตามพระบรมราโชบาย โดยในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 นายสุรศักดิ์ เจริญศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น ฯ ในการลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สำนักงานพาณิชย์และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ที่ห้องประชุมปิ่นเกลียว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดยนายสุรศักดิ์ เจริญศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ช่วยเสริมหนุนเศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคตะวันตก และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดนครปฐม คือ “เมืองอาหารปลอดภัย” ในการนี้ ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จะร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาชุมชนและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในภูมิภาคตะวันตก โดยบูรณาการศาสตร์ของอาจารย์จากหลากหลายสาขา มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพและรายได้ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs
นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การดำเนินการโครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นเพื่อขยายตลาดภูมิปัญญา (University as a Marketplace) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สอดคล้องกับภารกิจและช่วยส่งเสริมงานของกรมการพัฒนาชุมชนในการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานและสร้างช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP เช่น การจัดงาน OTOP ไทยสู้ภัย COVID 19 ระหว่างวันที่ 18 – 26 ธันวาคม 2564 ที่อิมแพคเมืองทองธานี เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า การดำเนินการโครงการนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพและมูลค่าของสินค้า OTOP และ SMEs ในภูมิภาคตะวันตก โดยมีการพัฒนาสินค้า ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค (Demand Driven) การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและทันสมัย การให้ความรู้กับผู้ประกอบการในการทำ Digital Content เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับตนเอง การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการผลิต เช่น GMP GHP และการทำฉลากสินค้าที่แสดงคุณค่าของอาหารและสุขภาพ ที่เรียกว่า FFC หรือ Food With Functional Claims เพื่อผู้บริโภคจะได้ทราบคุณค่าที่ดีต่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภค และสุดท้ายเป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ คือ การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs ในโครงการนี้ให้มีคุณภาพดีตามความต้องการของผู้บริโภค โดยใช้งานวิจัยและพัฒนา นำไปสู่การสร้างรายได้ของผู้ประกอบการ การซื้อวัตถุดิบและการจ้างแรงงานในท้องถิ่นให้มากขึ้น ตามหลัก BCG ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคตะวันตกมีความเข้มแข็งและยั่งยืน