จาก “ต้นทาง” สู่ “ความสำเร็จ” “ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ”

หากเอ่ยถึงศูนย์ฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนคงต้องนึกถึง “ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ” ที่มีบุคลากรผู้ปฏิบัติงานหลายร้อยคน สามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้ถึง 10,000 – 20,000 คนต่อวัน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ กทม. และจังหวัดใกล้เคียงเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ศูนย์ฉีดวัคซีนดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่บูรณาการ

การทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อันเป็นภาวะวิกฤตทางสาธารณสุขให้คลี่คลายลงได้ด้วยดี ซึ่งจุดเริ่มต้นทั้งหมดนี้เกิดจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ย้อนกลับไปช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ประเทศไทยได้รับมอบวัคซีนโควิด 19 จากผู้ผลิตหลายบริษัท และมีการกำหนดเป้าหมายว่าต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่มีการระบาดมากที่สุด มีจำนวนประชากรหนาแน่นมากที่สุด มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องฉีดวัคซีนแก่ประชาชนให้มากและเร็วที่สุด ได้แก่ พื้นที่ กทม. ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมา คือ ความหนาแน่นของผู้คนที่เข้าไปรับบริการตามจุดฉีดต่างๆ นายอนุทินจึงเกิดความคิดว่า ควรมีศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่สำหรับให้บริการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรของหน่วยงานราชการและกลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อบรรเทาความหนาแน่นในจุดฉีดวัคซีนอื่นๆ และเมื่อฉีดวัคซีนกลุ่มองค์กรเสร็จแล้ว ยังปรับมาให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อเพิ่มความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนให้เร็วยิ่งขึ้นได้ด้วย “ช่วงนั้นมีความคิดว่าอยากฉีดให้บุคลากรด่านหน้าของส่วนราชการให้มากที่สุด เพราะคนเหล่านี้แต่ละวันต้องสัมผัสกับประชาชนมากมาย จึงมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อและแพร่เชื้อ ดังนั้นจึงต้องการสถานที่ฉีดวัคซีนที่สามารถรองรับผู้คนจำนวนมากได้ เดินทางสะดวกสบาย ปลอดภัย” นายอนุทินกล่าว นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาคิดหาสถานที่ที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งเผอิญว่าเส้นทางไปกลับระหว่างบ้านและที่ทำงานต้องผ่านสถานีกลางบางซื่อทุกวัน ประกอบกับในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งผลให้ได้มีโอกาสได้เข้าไปตรวจเยี่ยมความพร้อมของสถานีดังกล่าว และทราบว่ากว่าจะมีการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบคือต้นปี 2565 ด้วยเหตุนี้ นายอนุทินจึงหารือกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเอ่ยปากขอยืมสถานที่สำหรับใช้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนชั่วคราว และอีกฝ่ายได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ระยะเวลาเพียง 3 วันที่ใช้ในการหารือ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเริ่มต้นฉีดให้แก่บุคลากรด้านขนส่งสาธารณะในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมก่อน ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อที่สามารถให้บริการแก่ผู้คนจำนวนมากได้ เมื่อระบบการจัดการต่างๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคมในการใช้สถานที่เพื่อฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปด้วย เมื่อจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อแล้ว นายอนุทินยังให้ความสำคัญและไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรอยู่บ่อยครั้ง หลายครั้งเป็นการไปโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้ได้เห็นความทุ่มเทในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และรอยยิ้มของผู้มารับบริการ ซึ่งมีแต่ความสบายใจ เป็นพลังบวกช่วยให้กำลังใจต่อสู้กับภาวะวิกฤตในครั้งนี้ “ผมไปเพราะมีความสุขที่ได้เห็นในสิ่งที่คิดขึ้นมาแล้วเพื่อนร่วมงานทั้งหลายบันดาลให้เกิดขึ้น เห็นประสิทธิภาพ เห็นประโยชน์ เห็นความพึงพอใจของคนที่มารับบริการ เราก็อยากไป” เขากล่าว พร้อมยืนยัน “ผมไม่ได้ไปตรวจ ไปแอบดูว่าลับหลังเราเขาทำอะไร ผมไม่เคยทำงานแบบนั้น ผมไปลามาไหว้ ไม่จุกจิก และไม่ได้ถือว่าการแอบไปดูคนทำงานเป็นสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาต้องทำอยู่ตลอดเวลา การทำงาน ถ้าทำด้วยความเข้าใจ ความร่วมมือซึ่งกันและกัน เราไม่ต้องเช็ก เรามั่นใจ” ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวเรือใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขผู้ตอบรับนโยบายนการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กลายเป็นรูปเป็นร่าง เล่าว่า ขณะนั้นรัฐบาลมีแผนงานที่จะระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แบบปูพรมแก่ประชาชนทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งในส่วนภูมิภาคมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดูแลแล้ว ยกเว้นพื้นที่ กทม. ที่ไม่มีหน่วยบริการของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่เลย ซึ่งพื้นที่กทม. มีประชากรเป็นจำนวนมากจึงเป็นความท้าทายของฝ่ายสาธารณสุขใน กทม. ว่าจะรองรับการดำเนินงานต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด ทั้งการป้องกันควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนกลางที่มีศักยภาพฉีดวัคซีนได้วันละ 10,000 – 20,000 คน เพื่อเสริมแรง กทม. และเป็นทางเลือกแก่ประชาชนที่ต้องการฉีดวัคซีนให้ได้รับบริการที่เร็วขึ้น “คำว่ากลางแปลว่าใครๆ ก็มาได้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราตัดสินใจฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ตอนนั้นใน กทม. ก็ยังไม่ได้ระบาดหนัก แต่เราพยายามมองในภาพรวมของประเทศมากกว่า ว่าควรฉีดให้ครอบคลุมให้ได้เร็วที่สุด อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว โดยได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ซึ่งมีหน่วยบริการอยู่ใน กทม. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ และมีสถาบันโรคผิวหนังเป็นผู้ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ฉีดวัคซีนดังกล่าว “พอใจกับการดำเนินงานนะ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าวพลางยิ้มและว่า “ผมรู้สึกดีใจที่ประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุได้ฉีดวัคซีน ตอนเริ่มต้นเราฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะทั้งหมดก่อน เพราะคิดว่าถ้ามีการล็อกดาวน์ ทุกคนต้องได้รับวัคซีนเพื่อจะได้มีความปลอดภัยในการให้บริการ จากนั้นจึงทยอยฉีดกลุ่มครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษา กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ ต่อมาเมื่อมีการระบาดหนักใน กทม. เราพบว่าคนที่เสียชีวิตคือกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง (607) จึงให้คนกลุ่มนี้เข้ามาฉีดมากขึ้น จนเมื่อประชากรใน กทม. ได้รับวัคซีนไปมากแล้ว ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อจะค่อยๆ ลดบทบาทลงแล้วให้ กทม. ดูแลต่อไป” โดยนับตั้งแต่วันที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปจนกระทั่งส่งมอบพื้นที่คืนแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อสามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ประชาชนได้หลายล้านคน ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประชาชนใน กทม. และจังหวัดใกล้เคียง สามารถเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็ว ช่วยลดภาระ ลดความหนาแน่นให้กับศูนย์ฉีดวัคซีนอื่นๆ ใน กทม. ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนดังกล่าว ดังที่นายอนุทินได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การดำเนินงานของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ถือว่ากรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในภารกิจนี้ ทำหน้าที่ด้วยประสิทธิภาพสูงสุด เป็นที่ชื่นชมของประชาชน” “สมกับชื่อกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็คือ การทำให้สาธารณชนมีความสุขนั่นเอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image