รจภ. รณรงค์การทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดโครงการ “ขอบคุณที่ทิ้งกัน (Thank You)”  เพื่อสร้างวินัยในการคัดแยกและกำจัดขยะ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรปลอดขยะพลาสติกและโฟมภายในปี ๒๕๖๕  และส่งเสริมการจัดการขยะติดเชื้อซึ่งเป็นขยะอันตรายและมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างถูกวิธี

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นของการแยกทิ้งขยะติดเชื้อให้ถูกต้องว่า “การวางแผนและมีแนวทางชัดเจนในการกำจัดขยะ “ติดเชื้อ” สามารถช่วยควบคุมการระบาดได้อีกทางหนึ่ง สามารถลดแหล่งแพร่เชื้อโรคโควิด-๑๙ และเชื้อโรคอื่นๆ ที่ติดปะปนมากับขยะติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแยกทิ้งชุดตรวจ Antigen Rapid Test  ที่อาจจะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อในวงกว้าง”

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ดำเนินการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล โดยรวมการแยกทิ้งขยะติดเชื้อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ขอบคุณที่ทิ้งกัน (Thank You)” ที่รณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากรในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งและโฟม ขณะเดียวกัน ส่งเสริมการสร้างวินัยการคัดแยกขยะเพื่อเป็นตัวอย่างกับสมาชิกในครอบครัว และขยายแนวคิดสู่สาธารณะเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนและสังคมต่อไป โดยกิจกรรมหลักเน้นให้บุคลากรคัดแยกและนำขยะที่สามารถนำไปใช้ใหม่และทำความสะอาดเรียบร้อยมาแลกของที่ระลึกจากโครงการ และสามารถบันทึกข้อมูลการคัดแยกขยะของตนเองในแอปพลิเคชัน CRA Thank You เพื่อเก็บคะแนนและแข่งขันกับเพื่อนร่วมงานในองค์กรได้ ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถร่วมกิจกรรมโดยลงทะเบียนผ่านแอปนี้และแลกของที่ระลึกได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีสื่อสาระที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกและกำจัดขยะและขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี ในแอปพลิเคชันด้วย

Advertisement

การควบคุมการระบาดจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการขยะโควิดอย่างปลอดภัย หากทิ้งขยะอันตรายเหล่านี้โดยไม่ปิดให้มิดชิด ก็อาจจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่น่าวิตก ดังนั้น การสร้างวินัยในการแยกทิ้งขยะติดเชื้อจะช่วยลดทอนการแพร่เชื้อได้

“ปัญหาขยะติดเชื้อสามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการเริ่มต้นสร้างวินัยที่ตัวเราเอง การที่เราทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วก็เช่นกัน ต้องรู้จักแยกทิ้ง ไม่ปะปนกับขยะประเภทอื่นที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้ เราต้องเริ่มปลูกจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อชุมชนใกล้เคียงและสังคม ปัญหาที่มีก็จะบรรเทาไปได้” ศ.นพ.นิธิกล่าว

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เริ่มดำเนินกิจกรรมแลกขยะในโครงการ “ขอบคุณที่ทิ้งกัน (Thank You)” เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีบุคลากรของราชวิทยาลัยลงทะเบียนร่วมกิจกรรมและนำขยะตามที่ระบุมาแลกแต้มรับของรางวัลกันอย่างคับคั่ง นอกจากนั้น ยังมีบุคลากรของหน่วยงานในพื้นที่ใกล้เคียง ผู้ป่วยและญาติตลอดจนประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย โดยโครงการจะส่งต่อขยะที่รับแลกมาไปยังหน่วยงานและองค์กรที่แปรรูปขยะเหล่านี้เพื่อกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์หมุนเวียนต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image