“ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง” เทรนด์ใหม่ในสังคมผู้สูงวัย

สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องดูแลตัวเองให้เป็น ถ้าเรามีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง จะไม่เป็นภาระของครอบครัวหรือสังคม สามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่ต้องการ และมีความสุขกับทุกนาทีที่เรามีชีวิต ยิ่งในวันที่ประเทศเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ การดูแลสุขภาพด้วยตนเองจะกลายมาเป็นเทรนด์ที่สำคัญ เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก

ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่จะมีความรู้และมีข้อมูลเพียงพอที่จะดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอทุกครั้ง ทำให้ระบบสาธารณสุขของเขาสามารถใช้ศักยภาพของแพทย์และทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันประชาชนสามารถ ประหยัดเวลาจากการเดินทาง การรอพบหมอ รอรับยา ลดค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อเวลาเข้าไปในที่ชุมชน หรือในโรงพยาบาล

นายฌอง ฟรองซัวส์ คูเว่ ผู้จัดการทั่วไป จีเอสเค คอนซูมเมอร์ เฮลธ์ ให้มุมมองว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพนับเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าในปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของจีดีพีประเทศไทย ซึ่งยังถือว่าไม่สูงมาก แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42 จากที่มีประมาณร้อยละ 18 ในวันนี้ ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เหมือนในหลายประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงถึงร้อยละ 10.7 ของจีดีพี

Advertisement

ต้องไม่ลืมด้วยว่า ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น การสร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจจะน้อยลงเพราะประชากรวัยทำงานมีจำนวนน้อยกว่าวัยเกษียณ เท่ากับเป็นการเพิ่มความท้าทายให้กับภาครัฐ ถ้าเราทุกคนไม่ว่าจะวัยไหนรู้จักดูแลสุขภาพของตนเองอย่างดี เราจะรักษาคุณภาพชีวิตและมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาวได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ และยังเป็นการสนับสนุนระบบสาธารณสุขของประเทศอีกด้วย เรียกว่าดูแลตัวเองเท่ากับดูแลประเทศโดยรวมในทางอ้อม

ดูแลสุขภาพของตนเอง ดูแลแค่ไหน

คำว่า “การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง” หรือ Self-Care ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 3 อ.ที่เราพูดถึงกันบ่อยๆ คือ อาหาร ออกกำลัง และอารมณ์เท่านั้น  แต่ยังรวมถึงการเลี่ยงกิจกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ฯลฯ  การรู้จักเลือกวิถีชีวิตที่ส่งเสริมการมีสุขภาพดี รู้จักการป้องกันโรค สามารถดูแลตัวเองได้ยามป่วยไข้เล็กๆ น้อยๆ รู้จักการใช้ยาอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ รู้ทันอาการของตัวเอง เข้าใจโรคต่างๆ  สามารถประเมินอาการของตนเองได้ว่าดีขึ้น หรือแย่ลง ทราบด้วยตัวเองได้ว่าถึงเวลาที่จะต้องไปหาหมอแล้วหรือยัง

คนไทยพร้อมไหม

เมื่อการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองเป็นเทรนด์ของทั่วโลก  สมาพันธ์การดูแลสุขภาพด้วยตนเองนานาชาติ (Global Self-Care Federation) ได้จัดทำดัชนีความพร้อมในการดูแลตนเอง (Self-Care Readiness Index) เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อตรวจดูความพร้อมของแต่ละประเทศในการดูแลสุขภาพตนเอง และใช้ข้อมูลจากดัชนีนี้เป็นเครื่องมือช่วยออกแบบและวางรากฐานของระบบสาธารณสุขให้พร้อมในการดูแลประชาชนในอนาคต

ในการจัดทำดัชนีนี้ สมาพันธ์การดูแลสุขภาพด้วยตนเองนานาชาติได้ศึกษาและเก็บข้อมูลจาก 10 ประเทศทั่วโลกครอบคลุมความแตกต่างด้านภูมิศาสตร์และโครงสร้างนโยบายสาธารณสุขที่หลากหลายได้แก่ บราซิล จีน อียิปต์ ฝรั่งเศส ไนจีเรีย โปแลนด์ แอฟริกาใต้ ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา   โดยศึกษาความพร้อมใน 4 ปัจจัย คือ ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชน การสนับสนุนให้ประชาชนมีความพร้อมที่จะตัดสินใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพตนเอง และความพร้อมด้านกฎหมายและการกำกับดูแล ประเทศไทย ทำคะแนนได้ค่อนข้างสูงใน 3 ด้าน คือ ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นโยบายภาครัฐ และความพร้อมด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ส่วนในด้านการการสนับสนุนให้ประชาชนมีความพร้อมที่จะตัดสินใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง ประเทศไทยยังมีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ปานกลางและยังมีโอกาสที่จะพัฒนาได้อีก

ต้องทำอย่างไรเราจึงพร้อมที่จะดูแลสุขภาพตนเอง

นางสาวนภาพร ไทยรุ่งโรจน์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพ จีเอสเค คอนซูมเมอร์ เฮลธ์ ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจไม่ว่าจะเรื่องใด คือ การมีข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเพียงพอที่จะวิเคราะห์และเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง คือ การสร้างองค์ความรู้  การมีช่องทางและแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพที่เข้าถึงได้สะดวก เข้าใจง่าย เชื่อถือได้  รวมทั้งการมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ และสามารถซื้อหาได้สะดวก

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและภาคเอกชนซึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพ จึงมีความสำคัญมากเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ สามารถดูแลตัวเองได้ เพื่อลดภาระของระบบสาธารณสุข ช่วยให้แพทย์และผู้ให้บริการสาธารณสุขใช้ความรู้และทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเวลาไปดูแลผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยฉุกเฉิน และโรคยากได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับอาการป่วยไม่รุนแรงที่ประชาชนสามารถดูแลได้ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องไปกวนหมอ

นอกจากนี้ การให้ความรู้ผ่านเภสัชกร ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญ เพราะเภสัชกรเป็นด่านหน้าที่พบกับผู้บริโภคโดยตรง การให้ความรู้แก่เภสัชกรอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ จะช่วยให้คนกลุ่มนี้ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง  และช่วยผู้บริโภคจัดการกับอาการป่วยเล็กน้อยได้ด้วยตนเอง

และสุดท้ายคือ การมีผลิตภัณฑ์ยาสามัญทั่วไปที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ หาซื้อได้สะดวกตามร้านขายยา เช่น แคลเซียมสำหรับป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฟันปลอมที่ช่วยลดเชื้อโรค และยาหรือวิธีจัดการกับความเจ็บปวด เพราะผู้สูงวัยมักปวดตามที่ต่างๆ และเป็นเหตุให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ซึ่งจะบั่นทอนคุณภาพชีวิตและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา

เราไม่จำเป็นต้องรอให้อายุมากก่อนจะหัดดูแลสุขภาพด้วยตนเอง การเริ่มต้นแต่เนิ่นๆ เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การใช้ชีวิตอย่างสมดุล และการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตนเอง จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น  ยิ่งทุกวันนี้คนมีอายุยืนขึ้น การดูแลสุขภาพด้วยตนเองจะสำคัญมากขึ้น และเป็นทางเลือกที่จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image