‘พล.ต.อ.อดุลย์’ ปธ.กมธ.แรงงาน ดึงเครือข่ายร่วมสร้างงานให้ผู้สูงอายุช่วงโควิด – 19

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการสัมมนา “ผู้สูงอายุกับงานที่มีคุณค่าในยุคโควิด – 19” ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม Chula Zoom โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน กล่าวรายงาน ณ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) และถ่ายทอดสดการสัมมนาผ่าน Facebook Live Cu- Collar

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อันจะมีผลต่อสภาพทางสังคม สภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงาน และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอย่างมีคุณภาพ รัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดให้ “สังคมสูงอายุ”เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่รวดเร็ว ก่อให้เกิดความท้าทายและโอกาสต่อตลาดแรงงานไทย นอกจากนี้ การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านความต้องการแรงงานอย่างรวดเร็ว ตลาดแรงงานไทยยังพบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมีแนวโน้มความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะของแรงงานกับทักษะในการทำงานสูงยิ่งขึ้น Skill mismatch แรงงานทักษะต่ำเผชิญกับความเสี่ยงสูงจากการแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ

Advertisement

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ส่งผลให้แรงงานต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น นายจ้างส่วนใหญ่เร่งนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ทักษะที่มีประโยชน์ ผนวกกับแนวโน้มความไม่แน่นอนของการลงทุนใหม่จากต่างประเทศและการย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงงานถูกกว่า ส่วนแรงงานสูงอายุที่ทำงาในภาคนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะเผชิญกับรูปแบบความต้องการสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงด้านรายได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถใช้เครื่องมือทางดิจิทัลได้จะมีโอกาสในการทำงานและการได้รายได้ลดลง

“ผมหวังว่าการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ จะเสริมสร้างความรู้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพและโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุตามแนวนโยบายเชิงบูรณาการอย่างยั่งยืนต่อไป” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวในท้ายสุด

สำหรับการสัมมนาดังกล่าว มีตัวแทนผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน อาทิ คณะกรรมาธิการการแรงงาน หน่วยงานด้านการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ ตัวแทนลูกจ้าง นายจ้าง และภาคประชาชน ฝ่ายเลขานุการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนที่สนใจที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ผ่านการดำเนินงานเชิงบูรณาการ และร่วมกันหารือแนวทางการส่งเสริมศักยภาพและส่งเสริมงานที่มีคุณค่าเพื่องานในอนาคตของยุคสังคมสูงวัยและยุคโควิด-19 เพื่อส่งผลต่อการปรับตัวเพื่อความก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image