ถมช่องว่างปัญหาน้ำ พื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด

พื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ในรอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ประสบปัญหาคุณภาพน้ำค่อนข้างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนน่ากังวล

ในระยะเวลา 5 ปี เกิดเหตุการณ์น้ำเสียในน้ำแม่กลองหลายครั้ง ทั้งจากโรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตเอทานอล โรงงานฟอกย้อม ปลายปี 2559 มลพิษในน้ำแม่กลอง คร่าชีวิตปลากระเบนราหูตายมากว่า 40 ตัว

กระเบนราหูเป็นสัตว์น้ำจืดขนาดใหญ่ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคุณภาพน้ำ การตายจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนถึงปัญหาคุณภาพน้ำเป็นอย่างดี

เช่นเดียวกับ ผู้เลี้ยงหอยในอ่าวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ร้องเรียนน้ำเสียจากฟาร์มสุกรใน จ.ราชบุรี ไหลลงลำน้ำสาขาก่อนลงแม่น้ำบางตะบูน และปากอ่าว ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่เลี้ยงหอยแครง สร้างความเสียหายเป็นประจำทุกปีคุณภาพน้ำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด เป็นสถานการณ์เด่นชัดมากและกระทบต่อการทำกิน เพราะอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมากถึงเกณฑ์พอใช้ คลองที่มีปัญหามลพิษหนัก ได้แก่ คลองปากท่อ และคลองวันดาว

Advertisement

ท่ามกลางปัญหาคุณภาพน้ำในบางพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ก็ยังมีแนวโน้มของปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศร้อนทำให้เกิดความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ลดน้อยลง สวนทางกับความความต้องการใช้น้ำในทุกกิจกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่ในเขตพื้นที่ปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเล เป็นลักษณะของน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งมีทั้งพื้นที่การเกษตร ที่อยู่อาศัยและพื้นที่เศรษฐกิจ หรือในพื้นที่ใต้เขื่อนเก็บกักน้ำหลักทางด้านเหนือน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำหลากจำนวนมากไหลมารวมกันที่บริเวณปากแม่น้ำก่อนไหลลงทะเลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะองค์กรกลางด้านน้ำ  จึงได้จัดทำโครงการศึกษาการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างครบวงจร โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทุกฝ่าย อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมมลพิษ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจากแต่เดิมที่ต่างหน่วยต่างทำ และจำกัดภายในขอบเขตพื้นที่การปกครอง มาเป็นการบูรณาการหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ลุ่มน้ำ ครอบคลุมสภาพปัญหาได้ทุกมิติ ผลักดันการแก้ไขปัญหาให้สอดรับกันตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งการศึกษาเริ่มตั้งแต่สำรวจข้อมูลแหล่งที่มาของมลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลาย และนำไปสู่การจัดทำแผนบริหารจัดการปัญหาคุณภาพน้ำที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ โดยประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษ (Carrying Capacity) ของคลองในพื้นที่ กำหนดสัดส่วนการระบายน้ำทิ้งที่เหมาะสม ตลอดจนจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำการที่ สทนช. เป็นเจ้าภาพเข้ามาคลี่คลายปัญหานี้ น่าจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาหมักหมมยาวนาน  โดยการศึกษาโครงการกำหนดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – พฤษภาคม 2565 ล่าสุด มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา  เพื่อรับฟังความคิดเห็นและเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา จากนั้นจะมีการประชุมกลุ่มย่อยในแต่ละปัญหาต่อไป และประชุมปัจฉิมนิเทศอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565  ก่อนสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไข

เป็นก้าวแรกในการแก้ไขปัญหาน้ำเชิงระบบในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด  น่าจะพอเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในไม่ช้า โดยเฉพาะการฟื้นฟูคุณภาพน้ำ คุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่รอยต่อให้กลับคืนมา เป็นแหล่งผลิตอาหารชั้นดีของประเทศ ทั้งข้าว ผัก ผลไม้  สัตว์น้ำจืด และสัตว์น้ำทะเล ตลอดจนระบบนิเวศในลุ่มน้ำ

Advertisement

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image