มจพ. ปั้นนักเรียนเตรียมวิศวฯ ไทย-เยอรมัน สร้างดาวเทียมเพื่อการศึกษาส่งขึ้นอวกาศ

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้จัดแถลงข่าวโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ฝึกอบรมการสร้างดาวเทียมของนักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน (KNACKSAT-2 TGPS) พร้อมด้วย ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มจพ. และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย (INSTED) ทีมงานโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ฝึกอบรมและให้คำปรึกษา เพื่อให้นักเรียนสามารถออกแบบพันธกิจในอวกาศ พัฒนาเพย์โหลด ช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2565 โดยเพย์โหลดที่พัฒนาขึ้นนี้จะถูกนำไปติดในดาวเทียม และนำไปทดสอบในอวกาศภายในไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ.2566 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มจพ. และ Kyushu Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรทางวิชาการที่สำคัญของ มจพ. ได้ร่วมมือและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภารกิจการสร้างดาวเทียมเพื่อการศึกษาของนักเรียนโรงเรียมเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน มจพ. จะส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี 2566 นี้

ก่อนจะเป็นดาวเทียมเตรียมวิศวฯ มาทำความรู้จักกับน้องๆ ที่ร่วมปฏิบัติภารกิจโครงการสร้างดาวเทียมของนักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (KNACKSAT-2 TGPS)

สวัสดีครับ กระผม นายสิริราช เหมะรัต สาขาเตรียมวิศวกรรมเครื่องกล รู้สึกภูมิใจมากที่ได้เข้าโครงการฝึกอบรมสร้างดาวเทียมของโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้ลงมือปฏิบัติจริง นำโทรศัพท์มาดูว่ามีระบบอะไรบ้าง แต่วันนี้กลายเป็นการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ของดาวเทียม ผมมองว่ามันคือโอกาสครั้งเดียวในชีวิต ผมต้องเรียนรู้ให้มากและทำมันให้ดีที่สุดครับ

Advertisement

นายสิรวิชญ์ แพร่วิศวกิจ สาขาเตรียมวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เข้ามาทำให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างดาวเทียม โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในระยะยาว พร้อมทั้งสามารถประยุกต์กับโปรเจ็กต์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายวีรวงศ์ แช่มพงษ์อนันท์ สาขาเตรียมวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เห็นประชาสัมพันธ์โครงการ KNACKSAT-2 TGPS ได้ชวนเพื่อนมาทำพรีเซนต์นำเสนอในรอบคัดเลือก จนถึงวันลุ้นผลรู้สึกตื่นเต้นมาก ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้ รู้สึกดีใจมาก ทำงานยังตื่นเต้น สนุกกับการทำงาน พี่ๆ ใจดีคอยช่วยเหลือทุกอย่าง ให้ความรู้และประสบการณ์

Advertisement

นายศุภสกร วรอุไร สาขาเตรียมวิศวกรรมเครื่องกล โรงเรียนเตรียมฯ มีโครงการ Knacksat-2 TGPS เป็นดาวเทียมที่นักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวฯ สร้าง ผมมีหน้าที่ในการเขียนโปรเเกรมและหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบของดาวเทียม เพื่อทำให้ดาวเทียมทำงานได้อย่างถูกต้องได้ผลตามที่ต้องการ

นายศุภชัย เมธาศิลวัต สาขาเตรียมวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นงานที่ท้าทาย ชีวิตมีอะไรให้ทำมากมาย เหนื่อยบ้างท้อบ้าง ใครที่กำลังท้อในชีวิต หรือหมดไฟอย่าพึ่งท้อ ชีวิตก็ต้องเดินต่อไป อย่าไปจมอยู่กับความท้อเเท้ สู้ไปด้วยกัน ถ้าดาวบนฟ้ามันจับต้องยากลองนึกถึง Knacksat-2 TGPS เพราะอย่างน้อยผมก็ได้ใส่กำลังไปให้แล้วครับ

นายไตรลักษณ์ แย้มมี สาขาเตรียมวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตอนแรกคิดว่าเป็นโครงการอบรมอย่างเดียว ได้เข้ามาเรียนลงมือทำ ช่วงแรกยังปรับตัวไม่ได้ ใช้เวลาอยู่กับทีม แลกเปลี่ยนความคิด ทำให้มีความก้าวหน้าอย่าวรวดเร็ว จัดการความคิดได้อย่างเป็นระเบียบมากขึ้น ผมมีหน้าที่ coding ถ้าไม่เข้าใจต้องพยายามหาความรู้ และถามรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ พยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เต็มที่

นายสรวิศ พันธารีย์ สาขาเตรียมวิศวกรรมเครื่องกล บรรยากาศการทำงานก็จะแบ่งเป็นส่วนๆ ก็จะมี Coding Electronics Structure ผมทำหน้าที่ Structure ผมเข้าโครงการนี้ เพราะผมชอบดูหนังที่เกี่ยวกับ Star Wars

นายคุณานนท์ ตรียะวรางพันธ์ สาขาเตรียมวิศวกรรมเครื่องกล ทุกคนตั้งใจทำงานมาก ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี การทำงานแบ่งเป็น Coding Electronics Structure ผมทําหน้าที่ของ Structure Structure เกี่ยวกับโครงสร้าง วัสดุของดาวเทียม ตอนคัดเลือกโครงการนี้ผมทำเกี่ยวกับ แผ่นป้องกันรังสีดาวเทียม ตอนเด็กผมชอบดู star war ผมชอบยานอวกาศ ในเรื่องมันดูเท่ห์มาก

นายกิตติภพ พันธะชาติ สาขาเตรียมวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผมคิดว่าเป็นงานท้าทาย ต้องมุ่งมั่น ฝึกฝนและพัฒนาทักษะ การทำงานเป็นทีม คือฟันเฟืองสำคัญของการทำงานระบบทีมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการวางแผนการสร้างทีมให้ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การทำงานระบบทีมยอดเยี่ยมที่สุด

สุดท้าย ผมขอให้ทุกท่านร่วมส่งกำลังใจให้ทีมนักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน มจพ. กับภารกิจสร้างดาวเทียมเพื่อการศึกษาสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และพร้อมส่งขึ้นสู่วงโคจรอวกาศในปี 2566 นายกิติติภพกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image