อิ่มสุข “ศาสตร์พระราชา”

สหประชาชาติประกาศให้ปี 2558 เป็นปีดินสากล (International Year of Soil & 2015) พร้อมประกาศรับรองให้ทุกวันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถและมีพระราชกรณียกิจทางด้านการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม

เป็นโอกาสตามรอยเบื้องพระยุคลบาท “องค์ปราชญ์แห่งดิน” ไปดูศาสตร์พระราชาด้านการจัดการดิน น้ำ และป่า ในชื่อ “หลุมขนมครก” สู่เป้าหมายหยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เล่าว่า หลุมขนมครกเป็นคำเปรียบเทียบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำเอาถาดขนมครกมาอธิบายการจัดการน้ำและลุ่มน้ำ อย่างถาดที่ไม่มีหลุมเลย เวลาฝนตกมาก็หลากท่วมหมด เสร็จก็ไหลทิ้ง แต่ถ้าในถาดมีหลุมเล็กๆ กระจายทั่วถาดเหมือนถาดขนมครก ฝนตกก็ไหลมาลงในหลุม พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ท่วม ขณะเดียวกันฤดูแล้งก็จะไม่แล้ง เพราะมีน้ำในหลุม พระองค์จึงอยากให้ขุดหลุมกระจายทั่วทุกบ้าน เป็นหลุมขนมครกที่ออกแบบได้เอง ไม่ว่าจะเป็นทำฝายชะลอน้ำ ขุดหนอง ปลูกป่า ปั้นคันนาใหญ่ๆ เหมือนในอดีต ซึ่งหากทำได้อย่างนี้ทุกบ้าน เราก็จะมีพื้นที่เก็บน้ำมากกว่าเขื่อน

ดร.วิวัฒน์เล่าว่า สำหรับประเทศไทยมี 25 ลุ่มน้ำ แต่ลุ่มน้ำที่พระองค์ทรงห่วงที่สุดคือลุ่มน้ำป่าสัก เพราะจัดการยากที่สุด แต่ละปีมีน้ำไหลลงมามาก แต่มีพื้นที่เก็บน้อย ปีหนึ่งๆ มีน้ำไหลลงมาเฉลี่ย 2,400-5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เขื่อนป่าสักเก็บน้ำได้สูงสุดเพียง 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นก็ไหลทะลักลงพื้นที่ด้านล่างหมด โดยเฉพาะ กทม. ขณะเดียวกันเมื่อถึงฤดูแล้งก็แล้งเลย ซึ่งในอดีตไม่เป็นอย่างนั้น เพราะมีหนองน้ำธรรมชาติ มีป่าธรรมชาติ และคันนาใหญ่ๆ สามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรก็ไหลลงมาหล่อเลี้ยงแม่น้ำ และทยอยไหลตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบันกลไกธรรมชาติถูกทำลาย จากพื้นที่ที่เคยเก็บน้ำถูกแปรสภาพเป็นสวนผลไม้ สถานที่ท่องเที่ยว จากภูเขาหัวจุกเปลี่ยนเป็นภูเขาหัวโล้น พื้นที่หนองคลองบึงถูกถมทับเพื่ออุตสาหกรรม ส่วนชาวนาก็ทำคันนาเล็กๆ และทิ้งน้ำหมด ทำให้มีปัญหาท่วมและแล้ง

Advertisement

“พระองค์รับสั่งเรื่องหลุมขนมครกมา 20-30 ปีแล้ว เคยให้ผมไปซื้อที่ดินข้างๆ วัดมงคล จังหวัดสระบุรี ทดลองทำด้วยพระองค์เองจนเกิดผลมาแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีใครนำไปทำจริงจัง จนปี 2554 ที่มีมหาอุทกภัย พระองค์พระราชทานคำแนะนำเรื่องหลุมขนมครกกับนายกรัฐมนตรีที่เข้าเฝ้าฯ ณ โรงพยาบาลศิริราช ทั้งยังตรัสว่าหากหายจากพระอาการประชวรจะออกมาช่วย” ดร.วิวัฒน์เล่า และว่า

ตั้งแต่นั้นมามีการรณรงค์สร้างหลุมขนมครกอย่างจริงจัง 5 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคสื่อสารมวลชน ผนึกกำลังเป็นกำปั้นช่วยพระเจ้าแผ่นดิน ภายใต้โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ซึ่งนอกจากการขุดหลุมขนมครกแล้ว ยังมีการถ่ายทอดแนวคิด “โคก หนอง นา โมเดล” ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เต็มที่และสามารถอยู่อย่างพอเพียง เช่น บนโคก ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์, ในหนอง เก็บน้ำและเลี้ยงปลา, ในนา ปลูกข้าว เก็บน้ำและมีร่องไว้เลี้ยงปลา และยกคันนาให้สูงเพื่อปลูกพืชผัก, คลองไส้ไก่ เก็บน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นทั่วผืนดิน ตลอดจนฝายชะลอน้ำ ที่ช่วยชะลอน้ำไว้ในพื้นที่ ซึ่งจากผลดำเนินโครงการปีที่ 3 พบว่า นอกจากพื้นที่เราจะไม่แล้งแล้ว ยังสามารถสูบน้ำช่วยพื้นที่รอบๆ ได้ ขณะเดียวกันยังมีปลาให้กิน มีพืชผักให้บริโภคกันเองในครัวเรือน

ปัจจุบันหลุมขนมครกในไทยทำได้เป็นหมื่นๆ หลุมแล้ว ยังห่างไกลความฝันที่ ดร.วิวัฒน์ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านหลุมใน 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะโครงการแม้โฟกัสแต่ลุ่มน้ำป่าสัก แต่ก็มีประชาชนจากลุ่มน้ำอื่นสนใจมาศึกษาและกลับไปลงมือขุดหลุมขนมครกบ้างแล้ว

อ.ยักษ์เชื่อว่าหาก 5 ภาคียังร่วมมือกันอย่างนี้ โดยเฉพาะการมีตัวอย่างให้เห็นว่าขุดแล้วมีประโยชน์จริง เป้าหมาย 1 แสนหลุมทำได้แน่อีก 6 ปี ส่วน 1 ล้านหลุม เพื่อหยุดท่วมหยุดแล้งในประเทศไทย จะเกิดขึ้นได้ใน 25 ปีจากนี้แน่นอน

 

lad01031258p3
(จากซ้าย) ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำจร, พนมเทียน ทองสิทธิ์, อุดร เพชรณรงค์ และ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล

 

ลงมือทำถึงจะรู้ “ศาสตร์พระราชาดีที่สุด”

พนมเทียน ทองสิทธิ์ อายุ 45 ปี เกษตรกร ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เล่าว่า ทำงานเป็นนักธรณีวิทยามา 20 ปี ตอนนั้นเงินเดือนแสนกว่าบาท แต่ด้วยอาชีพนี้ต้องอยู่ต่างประเทศตลอด จึงตัดสินใจลาออกมาอยู่กับครอบครัว ยึดอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่ ดีที่ว่าเคยช่วยพ่อแม่ทำอยู่บ้าง รวมถึงการใฝ่หาความรู้เรื่องเกษตรกรรมตามศาสตร์พระราชาระหว่างพักทำงาน ทำให้เริ่มต้นอย่างถูกทาง ตั้งแต่ฟื้นสภาพดินที่เคยเพาะปลูกด้วยปุ๋ยเคมีจนผลผลิตตกต่ำและมีสารพิษตกค้าง ก็ปล่อยให้หญ้าขึ้น โรยมูลสัตว์ และฉีดน้ำหมักชีวภาพ(อีเอ็ม) พบว่าได้ผลมาก ในดินก็เริ่มมีไส้เดือน จากนั้นเริ่มทดลองปลูกข้าวเป็นหลัก เสริมด้วยการปลูกมะขามหวาน มะขามเปรี้ยว ปลูกผักสวนครัว เช่น แตงกวา ผักกาด ถั่วฝักยาว และขุดบ่อเก็บน้ำ

หลังจากเริ่มทดลองเพาะปลูกตามศาสตร์พระราชามา 1 ปี พนมเทียนมีโอกาสได้เข้าโครงการขุดหลุมขนมครก เป็นโอกาสให้เขาได้พบคนที่รู้จริงเรื่องศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะการได้พบกับ ดร.วิวัฒน์และทีมงานที่เข้ามาแนะนำและให้ความรู้มากมาย

 

พื้นที่ของพนมเทียนก่อน-หลัง (2)
พื้นที่ของพนมเทียนก่อนนำศาสตร์พระราชามาใช้

 

พนมเทียนเล่าว่า หลังจากเดินตามศาสตร์พระราชาทั้งด้านจัดการน้ำและดิน พบว่าในพื้นที่มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ไม่แล้ง ต่างจากพื้นที่รอบข้างที่แห้งแล้งหมด เห็นชัดว่าการมีหลุมขนมครกทำให้จัดการอะไรง่ายขึ้นและเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตอนนี้มองไกลถึงแผนระยะกลางและระยะยาวแล้ว เช่น ปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ปลอดสารพิษ เพื่อขอรับรองจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ปลูกฝรั่ง กล้วย ชะอม ขายสดและแปรรูป ส่วนในบ่อก็เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาบึก ด้วยแซนด์วิชขี้วัวอาหารธรรมชาติ นำมาบริโภคและขายได้เช่นกัน

“ผมมีความสุขกับสิ่งที่ทำ มีความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัว แม้ตอนนี้รายได้อาจยังไม่พอค่าใช้จ่าย แต่ทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น เพราะสิ่งที่ทำไปจะออกดอกผลเต็มที่ในอีก 2 ปีข้างหน้า ระยะเวลา 2 ปีที่เดินตามรอยเท้าพ่อหลวงมา เห็นชัดว่าศาสตร์พระราชาใช้ได้จริง อย่างต้นมะขามมีคนมาทักว่าทำไมถึงโตผิดหูผิดตาจากเดิมที่แคระแกร็น ตรงนี้เพราะผมไม่เคยใช้ยา ไม่เผาหญ้าทำลายหน้าดิน แต่ใส่ปุ๋ยจุลินทรีย์ ใช้กระบวนการธรรมชาติ ทั้งนี้ ขอเวลาสัก 2-3 ปีทำตรงนี้ให้สำเร็จก่อน เพื่อเป็นหลักฐานเวลาออกไปบอกต่อว่า ศาสตร์พระราชาใช้ได้จริงเกิดประโยชน์จริง” พนมเทียนเล่า

 

พื้นที่ของพนมเทียนก่อน-หลัง (1)
พื้นที่ของพนมเทียนหลังนำศาสตร์พระราชามาใช้

 

ด้าน อุดร เพชรณรงค์ อายุ 65 ปี เกษตรกรบ้านวังเชื่อม อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี เล่าว่า ครอบครัวทำนาทำไร่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาตลอด เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง รายได้ดีแต่ค่าใช้จ่ายสูงและเหนื่อยมาก เพราะเป็นพืชล้มลุกต้องปลูกใหม่ทุกปี ขณะเดียวกันต้องหมดเงินซื้อปุ๋ยเคมีราคาแพง และมีผลกระทบต่อดินและผลผลิต จึงเริ่มศึกษาศาสตร์พระราชาเรื่องเกษตรแบบผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ และเริ่มทดลองนำมาใช้กับแปลงเกษตรที่ทำอยู่ ตั้งแต่การทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง การปลูกพืชยั่งยืนที่ปลูกครั้งเดียวให้ผลระยะยาว ปลูกพืชหลายชนิดเพื่อจะให้ผลผลิตหมุนเวียนตลอดทั้งปี เช่น มะขามหวาน มะม่วง ขนุน ไผ่ สะเดา ส่วนพืชล้มลุกก็ยังทำอยู่ แต่น้อยลงและไม่ใช้สารพิษ ตลอดจนขุดบ่อเพื่อเก็บน้ำและเลี้ยงปลา

 

ในน้ำมีปลาพื้นที่ของอุดร
ในน้ำมีปลาของอุดร

 

อุดรเดินตามศาสตร์พระราชามาสักระยะ จนต้นปี 2558 ที่เขาได้เข้าร่วมกับโครงการขุดหลุมขนมครก องค์ความรู้ต่างๆ ทำให้ชีวิตเกษตรกรของอุดรเปลี่ยนไปตลอดกาล บนดินนอกจากปลูกพืชหมุนเวียนไว้ขาย ยังมีพืชสมุนไพร ไก่ ปลาไว้บริโภคในครัวเรือนและขาย และมีน้ำเพาะปลูกเพียงพอตลอดทั้งปี จนปัจจุบันครัวเรือนของอุดรแทบไม่มีรายจ่าย มีแต่รายรับจากการผลิดอกออกผลในสิ่งที่ทำ ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนหลายหมื่นบาท

“ถึงเวลาที่เกษตรกรไทยต้องหันกลับมา ลดการใช้ปุ๋ยเคมี แทนด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามศาสตร์พระราชา หากน้อมนำมาปฏิบัติจะรู้ว่าใช้ได้จริงและดีที่สุด เพียงแต่เกษตรกรต้องขยันและหมั่นเอาใจใส่ดูแล อย่างผมศึกษาเรื่องบริหารจัดการน้ำก่อน เพราะหากมีน้ำก็สามารถเพาะปลูกอะไรได้ จากนั้นศึกษาเรื่องบริหารจัดการดิน เพราะจะทำให้ผลผลิตอยู่รอดและเติบโตได้ ในโลกนี้มีประเทศไทยประเทศเดียวที่พระเจ้าแผ่นดินสอนให้ราษฎรทำการเกษตรผสมผสานหลายแบบหลายอย่าง” นายอุดรเล่า

 

คนเมืองก็ทำหลุมขนมครกได้

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผันบ้านตัวเองพื้นที่ 30 ตารางวา มาทำตามศาสตร์พระราชา เล่าว่า นำแนวคิดโคก หนอง นา โมเดล มาประยุกต์ให้เหมาะกับบ้านคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด เปรียบโคกคือหลังคา หนองคือถังน้ำ และนาคืออาหาร ใช้โอกาสที่ กทม.มีฝนตกมากในแต่ละปีเก็บน้ำฝนไว้ใช้ โดยปล่อยให้ฝนชะล้างหลังคาสัก 5 รอบแล้วค่อยรองน้ำฝนใส่ถังน้ำ สามารถนำมาดื่มได้เมื่อผ่านเครื่องกรองน้ำ และนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ แทนใช้น้ำประปาได้ ส่วนอาหารก็นำพืชผักสมุนไพรมาปลูกรอบๆ บ้าน มีกว่า 80 ชนิด แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ไม้กลาง เน้นปลูกพืชให้ผลและให้กลิ่น เช่น กล้วย มะกรูด มะยม ลั่นทม จำปี ปีบ, ไม้เตี้ย เน้นปลูกพืชสมุนไพรรักษาโรค เช่น ฟ้าทะลายโจร ตะไคร้หอม เสลดพังพอน อ่อมแซบ, ไม้เรี่ยดิน เน้นบริโภค เช่น ตำลึง ผักบุ้ง อัญชัน องุ่นอิตาลี และพืชหัว เน้นบริโภค เช่น เห็ดโคน

“จะเห็นว่าพื้นที่เล็กๆ สามารถปลูกอะไรได้มาก พื้นที่ 1 ตารางเมตรสามารถปลูกพืช 4 ระดับอย่างที่ยกตัวอย่าง ที่จะไม่แย่งพื้นที่กัน ยิ่งหากปลูกให้เลื้อยกำแพงบ้าน จะได้ความร่มเย็นให้ภายในบ้านอีกด้วย อย่างไรก็ดี

ผลผลิตที่ปลูกสามารถบริโภคภายใน ลดค่าใช้จ่ายและพืชปลอดสารพิษ เหลือก็นำไปแจกเพื่อนบ้าน เช่น เห็ดโคน ที่ได้ผลผลิตวันละ 2 กิโลกรัมกว่าๆ เหลือก็เอาไปให้เขา เขาก็เอาของมาให้เราอีก

 

S__5103687
“สวนแนวตั้ง” ทางเลือกของคนเมือง

 

“ส่วนเรื่องน้ำ ผมรองน้ำฝนไว้มาก มีถังจุน้ำรวม 8,000 กว่าลิตร ลดการใช้น้ำประปาและลดค่าใช้จ่ายได้มาก ขณะเดียวกันหากใน กทม.เกิดน้ำประปาไม่ไหล ครอบครัวผม 3 ชีวิตสามารถมีน้ำสำรองไว้กินไว้ใช้ได้มากถึง 45 วันหากใช้อย่างประหยัด ก็อยากให้ชาว กทม.เตรียมตัวไว้ เพราะปีหน้าจะแล้งมากกว่าปีนี้ถึง 3 เท่า จะเกิดปัญหาน้ำประปากร่อย ฉะนั้น อยากให้ชาวกทม.เตรียมพร้อม”

ผศ.พิเชฐกล่าวทิ้งท้ายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดให้เราหมดทุกอย่างเพียงแต่เราต้องพึ่งตัวเองก่อน ต้องเชื่อและทำตาม อย่างผมเริ่มทำตามศาสตร์พระราชามาตั้งแต่ปี 2551 จะรู้ซึ้งว่า “ศาสตร์พระราชาใช้ได้จริง เกิดประโยชน์จริง”

อิ่มสุขศาสตร์พระราชา เริ่มต้นด้วยการลงมือทำ

 

สวนแนวตั้ง
สวนแนวตั้ง

ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจากโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image