“โปรไบโอติกส์” เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านลองโควิด

ในช่วงที่โควิด-19 ดูเหมือนจะมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยมากมาย การหาอะไรมาช่วยให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรงขึ้น นอกจากวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว เรื่องของอาหารการกินก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ว่าแต่จะมีอาหารอะไรที่ช่วยเสริมภูมิดังกล่าวได้?

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “โปรไบโอติกส์” (Probiotics) ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นจุลินทรีย์มีชีวิตชนิดดี ที่เมื่อใช้ในปริมาณเพียงพอเหมาะสมจะส่งผลดีต่อร่างกายของผู้บริโภค โดยโปรไบโอติกส์มีจุดเด่นอย่างมากในเรื่องการปรับสมดุลลำไส้ เมื่อลำไส้ทำงานได้ดีจะส่งผลไปถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดภูมิแพ้ ที่สำคัญ ยังช่วยลดอาการของลองโควิดด้วย

นายแพทย์จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อาจารย์แพทย์สาขาวิชาอายุรกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทาน  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายว่า โปรไบโอติกส์คือจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีชีวิต ซึ่งมีทั้งที่เป็นแบคทีเรียดี ยีสต์ที่ดี และ เชื้อราที่ดี แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีประโยชน์แตกต่างกันออกไป แต่ประโยชน์หลักๆ ก็คือช่วยปรับสมดุลลำไส้ ด้วยการเข้าไปลดปริมาณจุลินทรีย์ชนิดไม่ดีที่อาจก่อโรค ช่วยกำจัดเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร ทั้งยังกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารให้มีความสมดุล ลดอาการท้องอืด ท้องเสีย กระตุ้นการขับถ่าย บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน และเมื่อลำไส้มีจุลินทรีย์ดี แบคทีเรียดีมากกว่าชนิดไม่ดี ก็ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้นไปด้วย

Advertisement

“โปรไบโอติกส์ โดยเฉพาะชนิดไบฟีโดแบคทีเรียม และแลคโตบาซิลัส มีส่วนในการช่วยเรื่องโรคภูมิแพ้ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะโรคหืด ขณะที่โควิดเองมีผลต่อระบบหายใจ ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากอาการป่วยโควิด ก็อาจยังมีอาการปวดเมื่อย อ่อนล้า หายใจไม่อิ่ม อยู่บ้าง ดังนั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงแนะผู้ป่วยเลือกกินอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีน จุลินทรีย์สุขภาพ หรือโปรไบโอติกส์ (Probiotics) วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง และสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และพบว่าในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดยังมีข้อมูลจากงานวิจัยว่า การรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกส์ จะช่วยลดอาการได้ไวกว่าและกำจัดเชื้อได้ไวกว่ากลุ่มคนไข้ที่ไม่ได้รับประทานโปรไบโอติกส์” นายแพทย์จิรวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของโปรไบโอติกส์อย่างสม่ำเสมอไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีอยู่ในอาหารหลายชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่ผ่านการหมัก จนทำให้ได้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ อาทิ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ขิงดอง หรือ กิมจิ และควรรับประทานร่วมกับอาหารที่มีพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) สูง เช่น กระหล่ำปลี อะโวคาโด กล้วย กระเทียม จะช่วยให้โปรไบโอติกส์เจริญได้ดีขึ้น

ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะมีเชื้อโรคใดกลายพันธุ์หรืออุบัติใหม่ขึ้นมาอีกเมื่อใด แนวทางที่ดีที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง เริ่มต้นด้วยการสร้างสมดุลลำไส้ ซึ่ง“โปรไบโอติกส์” ช่วยได้ในเรื่องนี้ … ตอกย้ำว่าการกินอาหารให้เป็นยา (Food as a Medicine) นั้น ดีกว่ากินยาเป็นอาหารแน่นอน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image