ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุยางฯ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยางพารา

ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จัดอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การนำไปใช้ประโยชน์ด้านยางพารา

 

 

Advertisement

รองศาสตราจารย์ ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุยางและพอลิเมอร์เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมในครั้งนี้ เนื่องจากการสนับสนุนของสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านแผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2565 ทำให้เกิดโครงการวิจัยเรื่อง การบูรณาการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพทางวัสดุการเกษตรสร้างมูลค่าสู่การประยุกต์ต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านวัสดุศาสตร์ขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมยางพารา สำหรับการจัดอบรมแบบออนไลน์ในวันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสารรักษาสภาพ ลดกลิ่น ควบคุมความหนืดของยางธรรมชาติ และวิธีการลดมอดูลัสของน้ำยางธรรมชาติให้แก่ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมการอบรมออนไลน์ประมาณ 120 คน จากหน่วยงานดังต่อไปนี้

  1. ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดระยอง จำกัด
  2. กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราบางบุตร
  3. วิสาหกิจชุมชนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา อ.วังจันทร์
  4. วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง
  5. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการส่งเสริมอาชีพบ้านศรีประชา
  6. สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านสะท้อน จำกัด
  7. สหกรณ์ยางพาราเนินดินแดง จำกัด
  8. สหกรณ์เครือข่ายยางพาราจังหวัดตราด จำกัด
  9. ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดระยอง จำกัด
  10. สหกรณ์ตราดยางพารา จำกัด
  11. สหกรณ์การเกษตร บ้านค่าย จำกัด
  12. วิสาหกิจชุมชนยางพาราฉะเชิงเทรา
  13. กลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น
  14. บริษัท ไทย อินโนวา รับเบอร์ จำกัด
  15. บริษัท ลาเท็กซ์เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด
  16. บริษัท ทองไทย เทคนิคอล รับเบอร์ จำกัด
  17. บริษัท ไทยรับเทค จำกัด
  18. บริษัท จะนะ น้ำยาง จำกัด
  19. บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด(มหาชน)
  20. บริษัท อินเตอร์รับเบอลาเทกซ์ จำกัด
  21. บริษัท เฟลเทกซ์ จำกัด
  22. บริษัท กรีน ลาเทกซ์ จำกัด
  23. บริษัท ท้อปโกลฟ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
  24. บริษัท ไทยแมคเอสทีอาร์ จำกัด สาขากระบี่ 2
  25. บริษัท ที.ที. ลาเท็กซ์แอนด์โปรดักส์ จำกัด
  26. บริษัท นำรับเบอร์ แอนด์ ลาเท็คส์ จำกัด
  27. บริษัท พาโก รับเบอร์ เทรดดิ้ง
  28. บริษัท นาบอนรับเบอร์ จำกัด
  29. บริษัท เอส ที ลาเท็กซ์ จำกัด
  30. บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  31. บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด
  32. บริษัท ท่าฉางรับเบอร์ จำกัด
  33. บริษัท ศรีเจริญลาเท็กซ์ จำกัด
  34. สมาคมยางพาราไทย
  35. สมาคมน้ำยางข้น

 

Advertisement

สำหรับการอบรมเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสารรักษาสภาพ ลดกลิ่น และควบคุมความหนืดของยางธรรมชาติ นำเสนอโดย ดร.สุพิชตา เสือเฒ่า อาจารย์ประจำภาควิชาวัสดุศาสตร์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับวิธีการในการรักษาสภาพ ลดกลิ่น และควบคุมความหนืดของยางธรรมชาติ ซึ่งการรักษาเสถียรสภาพเป็นการทำให้น้ำยางธรรมชาติมีสภาวะเป็นด่าง โดยทั่วไปนิยมใช้การเติมแอมโมเนียเข้าไปในน้ำยางสด นอกจากนี้ยังมีวิธีการเติมสารยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่ยังมีข้อเสียในเรื่องของราคาแพงและปัญหาเรื่องสารตกค้าง ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการวิจัยเพื่อค้นหาสารรักษาสภาพน้ำยางสดชนิดใหม่ เพื่อใช้ทดแทนระบบเดิม ซึ่งสามารถรักษาสภาพ ลดกลิ่น และควบคุมความหนืดของยางธรรมชาติให้คงที่ได้ในสารชนิดเดียว โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุยางและพอลิเมอร์เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ในลำดับถัดมาเป็นการอบรมเรื่อง วิธีการลดมอดูลัสของน้ำยางธรรมชาติ นำเสนอโดย ดร.หัสฤทัย ยางทอง นักวิจัยประจำศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุยางและพอลิเมอร์เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ภาควิชาวัสดุศาสตร์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับวิธีการลดมอดูลัสของยางธรรมชาติ ซึ่งโดยทั่วไปยางธรรมชาติสามารถเกิดเจลภายในโครงสร้างโมเลกุลของยางทำให้ยางธรรมชาติมีค่าความหนืดเพิ่มมากขึ้นหรือเรียกว่า การเกิดความแข็งขณะเก็บ (Storage hardening phenomenon) ทำให้ยางธรรมชาติมีความแข็งเพิ่มขึ้นเมื่อเก็บยางไว้ ซึ่งส่งผลให้ค่ามอดูลัสเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นวิธีการลดมอดูลัสของยางธรรมชาติ จึงเริ่มต้นจากการลดปริมาณการเกิดเจล หรือขัดขวางการก่อตัวของเจล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยางแข็ง และเกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานในการแปรรูป ดังนั้นจึงสามารถแก้ปัญหาโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่การใช้เครื่องหมุนเหวี่ยงตกตะกอน (Centrifuge) เพื่อหมุนเหวี่ยงส่วนที่ไม่ใช่ยางออกไป จากนั้นจึงเติมสารควบคุมความหนืดเพื่อลดการก่อตัวของเจล ซึ่งมักเกิดขึ้นขณะเก็บยางไว้ก่อนนำไปแปรรูป โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุยางและพอลิเมอร์เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถพัฒนาสารควบคุมความหนืดและลดมอดูลัสของยางธรรมชาติจากสารสกัดจากของเสียทางการเกษตร

จากการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การนำไปใช้ประโยชน์ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพาราสามารถบูรณาการองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้และต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ยางพาราซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทยได้ต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image